องค์การยาแห่งยุโรป (EMA) เปิดเผยวานนี้ (20 เม.ย.) ว่า คณะกรรมการด้านความปลอดภัยของสำนักงานได้ข้อสรุปว่า ควรมีการเพิ่มเติมคำเตือนเกี่ยวกับ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ร่วมกับ ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ บนสลากของวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) เช่นเดียวกับที่บังคับใช้กรณีสลาก วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า
ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัคซีนของ J&J ข้างต้นนับเป็นปัญหาที่ซ้ำเติมโครงการวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่เชื่องช้าล้าหลังค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับโครงการฉีดวัคซีนทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเหตุปัจจัยก่อความล่าช้า สืบเนื่องจากความล่าช้าทางด้านการผลิต ซึ่งเป็นเหตุผลด้านอุปทาน ประกอบกับข่าวสารด้านความปลอดภัยของวัคซีนที่ทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวลและลังเลที่จะฉีดวัคซีo ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดกลายพันธุ์ทำให้ฝรั่งเศสและอีกหลายประเทศในยุโรปต้องกำหนดมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่
ส่วนกรณีการเชื่อมโยงระหว่างการฉีดวัคซีน J&J กับปัญหาการเกิดลิ่มเลือดอุดต้นในประชากรวัยผู้ใหญ่นั้น ส่งผลให้มีการระงับการแจกจ่ายวัคซีนของ J&J ในยุโรปและสหรัฐในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นปัญหาล่าสุดที่กลายเป็นอุปสรรคสร้างความล่าช้าให้กับโครงการฉีดวัคซีนในภูมิภาคดังกล่าว ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบโลกที่มีคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 3.1 ล้านคน และทำให้มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 142.1 ล้านคน
เอเมอร์ คุก ผู้อำนวยการใหญ่ของ EMA กล่าวว่า พวกเขายกให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆที่เป็นรัฐสมาชิกของอียูตัดสินใจเอาเองว่า จะใช้วัคซีนของ J&J ต่อไปหรือไม่ ซึ่งเป็นจุดยืนเดียวกับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งนี้ ย้ำว่าเคสเหล่านี้ (ลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีน) พบยากมาก และส่วนใหญ่เท่าที่ผ่านมา วัคซีนตัวนี้ก็สามารถป้องกันการเสียชีวิตและการล้มป่วยด้วยอาการรุนแรงจากโควิดไว้ได้มาก ดังนั้น รัฐบาลประเทศสมาชิกอียู จึงต้องตัดสินใจโดยชั่งน้ำหนักเอาเองระหว่างประโยชน์ของวัคซีนกับความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้หลายชาติได้ระงับใช้หรือจำกัดการใช้วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามาครั้งหนึ่งแล้วจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังการฉีดวัคซีน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความเคลื่อนไหวของ EMA มีขึ้นหลังจากพวกเขาได้ทำการตรวจสอบทบทวนผู้ป่วยเคสลิ่มเลือดอุดตันในผู้ใหญ่ในสหรัฐฯ อายุต่ำกว่า 60 ปี 8 เคส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และอาการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใน 3 สัปดาห์หลังจากผู้ป่วยเข้ารับการฉีดวัคซีนของ J&J
รายงานของ EMA บันทึกไว้ว่า ทั้ง 8 เคสเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กน้อยของประชาชนมากกว่า 7 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาที่ได้รับวัคซีนของ J&J ไปแล้ว (ข้อมูล ณ วันที่ 13 เม.ย.)
นอกจากนี้ ยังระบุว่า เคสลิ่มเลือดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสมองและช่องท้อง แบบเดียวกับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งก็อยู่ระหว่างการศึกษาปัญหาคล้าย ๆกัน
“ความเป็นไปได้หนึ่งที่อาจอธิบายภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ คือการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน นำมาสู่อาการคล้ายกับอาการที่พบเห็นบางครั้งในคนไข้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเฮพาริน (ยาต้านการแข็งตัวของเลือด)” EMA ระบุ
จนถึงขณะนี้ ทั่วโลกมีรายงานพบเจอเคสภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วมากกว่า 300 เคส
ซาบีน สเตราส์ ประธานคณะกรรมการด้านความปลอดภัยของ EMA ยืนยันว่าหากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว บุคลากรการแพทย์ก็จะยังสามารถช่วยเหลือผู้ฉีดวัคซีนให้พ้นอันตรายจากภาวะดังกล่าว และสามารถหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เพิ่มเติม
ด้านโฆษกของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเปิดเผยว่า กำลังทำงานร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบต่างๆ อย่างใกล้ชิด และย้ำว่า ยังไม่มีข้อสรุปอย่างชัดเจนว่าวัคซีนของพวกเขามีความสัมพันธ์เชิงสาเหตุกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ขณะที่นักวิจัยบางส่วนให้ความเห็นว่า การออกแบบที่คล้ายกันของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า และวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อาจมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นลิ่มเลือด โดยวัคซีนทั้งสองต่างใช้เทคโนโลยีใช้เวอร์ชันดัดแปลงของอะดีโนไวรัส ซึ่งเป็นต้นตอของไข้หวัดทั่วไป เป็นพาหะนำสไปค์โปรตีนเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์
โจนาธาน บอลล์ ศาสตราจารย์ด้านไวรัสวิทยาระดับโมเลกุลแห่งมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมในอังกฤษให้ความเห็นว่า ผลข้างเคียงแบบเดียวกันบ่งชี้ว่าปัญหาต่างๆ อาจเกิดจากอะดีโนไวรัสไม่ทำงาน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของสหรัฐจะประชุมกันในวันศุกร์นี้ (23เม.ย.) เพื่อพิจารณาว่าจะกลับมาใช้วัคซีนของ J&J อีกครั้งหรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง