อียูพร้อมใช้ใบรับรองฉีดวัคซีนแบบดิจิทัล มิ.ย.นี้

26 พ.ค. 2564 | 15:06 น.

อียูเผยใบรับรองฉีดวัคซีนโควิดแบบดิจิทัล จะพร้อมใช้งานต้นเดือนมิ.ย.นี้แล้ว เพื่อสนับสนุนการเดินทางของประชาชนทั่วอียูโดยเสรี และเป็นอีกก้าวสู่การกลับคืนสู่การใช้ชีวิตในระดับปกติ

นางเออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดเผยวันนี้ (26 พ.ค.) ว่า ระบบพื้นฐานของ ใบรับรองการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบดิจิทัล ที่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางทั่ว สหภาพยุโรป (อียู) โดยเสรีนั้น จะพร้อมใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป

เออร์ซูลา ฟอน เดอ เลเยน

นางฟอน เดอร์ เลเยน ประกาศภายหลังการประชุมสุดยอดพิเศษระหว่าง 27 ประเทศสมาชิกอียู ว่าประเทศสมาชิกสามารถเชื่อมต่อกับระบบใบรับรองดังกล่าวตั้งแต่กลางเดือนมิ.ย.เป็นต้นไป และแต่ละประเทศต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลใบรับรองถูกป้อนเข้าสู่ระบบสุขภาพระดับชาติของตนเอง

 "ใบรับรองการฉีดวัคซีนเป็นโอกาสพิเศษที่จะแสดงให้เห็นว่าอียูมีส่วนช่วยให้ชีวิตประจำวันของประชาชนกลับมาเป็นปกติอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เราทุกคนต้องร่วมกันพยายามทำให้มันเกิดขึ้น" ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าว

ก่อนหน้านี้ นางฟอน เดอ เลเยน เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า ประชากรผู้ใหญ่ในอียูครึ่งหนึ่งจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสแรกในสัปดาห์นี้ ขณะเดียวกันมีการส่งมอบวัคซีน 300 ล้านโดส และถูกฉีดให้ประชาชนแล้ว 245 ล้านโดส

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายการมีวัคซีนเพียงพอจะฉีดให้ประชากรผู้ใหญ่ในอียูร้อยละ 70 ภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้ หากอียูยังดำเนินการตามแผนต่อไป ก็มั่นใจว่าจะสามารถกลับมาเปิดประเทศได้อย่างปลอดภัยอีกครั้ง

อียูพร้อมใช้ใบรับรองฉีดวัคซีนแบบดิจิทัล มิ.ย.นี้

ขณะเดียวกันคณะผู้นำของอียูได้ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของโลก หลังร่วมหารือในประเด็น "ความก้าวหน้าที่มั่นคง" ในระหว่างการประชุมสุดยอดของอียูระยะเวลา 2 วัน

นางฟอน เดอ เลเยน เปิดเผยหลังการประชุมว่า คณะผู้นำอียูยังเห็นพ้องที่จะบริจาควัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไปยังประเทศยากจนอย่างน้อย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ พร้อมระบุว่า การบริจาคเป็นสิ่งที่ "จำเป็นอย่างยิ่ง" เนื่องจากสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (SII) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกวัคซีนต้านโควิด-19 รายใหญ่ได้ระงับการส่งออกวัคซีนทั้งหมดสู่โครงการโคแวกซ์ (COVAX) ที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) จนถึงสิ้นปีนี้เนื่องจากเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ในประเทศอินเดียเอง

ทั้งนี้ บริษัทไฟเซอร์-บิออนเทค, โมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) ตั้งเป้าหมายส่งมอบวัคซีน 1.3 พันล้านโดสในปี 2564 ให้ประเทศรายได้ต่ำโดยไม่แสวงหาผลกำไร และให้ประเทศรายได้ปานกลางในราคาถูก ขณะเดียวกันอียูวางแผนลงทุน 1,000 ล้านยูโร (ราว 3.8 หมื่นล้านบาท) เพื่อพัฒนาการผลิตวัคซีนในทวีปแอฟริกา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง