ภาวะ "โควิดระยะยาว" หรือ long COVID ซึ่งหมายถึง การมีอาการเรื้อรังระยะยาว หลังติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อ โรคโควิด-19 เป็นปัญหาใหม่ซึ่งกำลังเป็นที่วิตกในประเทศเยอรมนี อันตรายเกี่ยวกับโควิดระยะยาวนั้นก็คือ มันเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องป่วยหนัก อาจพบได้ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย
นายอันยา คาร์ลิกเชก รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาและวิจัยของเยอรมนี เปิดเผยกับสื่อมวลชนท้องถิ่นว่า เยอรมนีตรวจพบประชาชนราว 350,000 คนที่กำลังประสบภาวะดังกล่าว “อันตรายเกี่ยวกับโควิดระยะยาวก็คือมันเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องป่วยหนัก”
ทั้งนี้ อาการของภาวะโควิดเรื้อรัง อาจแตกต่างกันในแต่ละบุคคล และแพทย์ระบุว่า มีประมาณ 50 ชนิดอาการที่เชื่อมโยงกับโควิดระยะยาว โดยการปวดศีรษะซ้ำ ๆ เหนื่อยล้า และหายใจลำบาก ถือเป็นกลุ่มอาการที่พบได้เป็นส่วนใหญ่
กระทรวงการศึกษาและวิจัยของเยอรมนี คาดการณ์ว่า 1 ใน 10 ของประชากรในเยอรมนี ต้องต่อสู้กับผลกระทบระยะยาวที่คงอยู่นานกว่า 3 เดือนหลังจากที่พวกเขาติดเชื้อไวรัสโควิด-19
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทางกระทรวงจึงได้ประกาศโครงการระดมทุนใหม่สำหรับการวิจัยภาวะโควิดเรื้อรังเพิ่มเติม ซึ่งขั้นต้นมีเงินทุนรวม 5 ล้านยูโร (ราว 190 ล้านบาท) โดยผลลัพธ์ที่ได้จะปูทางสู่การวิจัยและจัดสรรทุนเพิ่มเติม
"ภาวะโควิดเรื้อรังจะส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ เรากำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ และยังเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงอีกด้วย" นายคาร์ลิกเชกกล่าว
เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่นี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 เยอรมนีได้จัดตั้งเครือข่ายการวิจัยใหม่สำหรับโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่มีส่วนร่วมต่อสู้กับโรคโควิด-19 โดยกระทรวงได้สนับสนุนเครือข่ายดังกล่าวด้วยเงินทุน 150 ล้านยูโร (ราว 5.7 พันล้านบาท) จนถึงสิ้นปีนี้
สถิติจากสถาบันวิจัยโรแบร์ตค็อก (RKI) ระบุว่า ปัจจุบันเยอรมนีมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมเกือบ 3.7 ล้านรายทั่วประเทศ และมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 88,442 ราย เมื่อนับถึงวันจันทร์ (31 พ.ค.)
ข้อมูลอ้างอิง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง