จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน หลังสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ดูเหมือนจะคลี่คลายลงเมื่อเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แต่ดูเหมือนหลายฝ่ายจะคิดผิดเสียแล้ว เพราะจากความเคลื่อนไหวด้านนโยบายในยุคไบเดนเวลานี้ทิศทางแนวโน้มสงครามเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเมือง และอื่นๆ ที่มีต่อจีนกำลังจะทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดสหรัฐฯได้ออกพระราชบัญญัติพญาอินทรีย์ (EAGLE Act : Ensuring American Global Leadership and Engagement Act) และพระราชบัญญัติการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ (Strategic Competition Act) ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้มีเนื้อหาคล้ายๆ กัน และมีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาความเป็นผู้นำของโลกในทุกด้านของสหรัฐฯ รวมถึงถ่วงดุลอำนาจกับจีนในอินโด-แปซิฟิก โดยการสร้างกฎเกณฑ์และระเบียบคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การค้า การลงทุน สังคมและเทคโนโลยี ที่สอดคล้องกับค่านิยมและผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา และพันธมิตร
“กฎหมายเหล่านี้มีเป้าหมายเล่นงานจีนโดยเฉพาะในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการค้า การลงทุน สิทธิมนุษยชน การเมือง เรื่องประชาธิปไตย ภาวะโลกร้อน เรื่องในซินเจียง เรื่องในฮ่องกง และอื่นๆ ส่วนหนึ่งถือเป็นการทำสงครามการค้า แต่มีรูปแบบที่เปลี่ยนไป”
นอกจากนี้สหรัฐยังได้มีความร่วมมือทางดิจิทัลและความปลอดภัยทางไซเบอร์กับประเทศพันธมิตร โดยตั้งกองทุนต่อต้านจีนปีละ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 9,300 ล้านบาท ) ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ (2565-2569)โดยทำข้อตกลงซื้อขายสินค้า
ดิจิตัลกับญี่ปุ่น ไต้หวัน ยุโรป การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัย และปกป้องทรัพย์สินทางเทคโนโลยี เป็นต้น รวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่น ต่อต้านอิทธิพลพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยตั้งกองทุนปีละ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ยุทธศาสตร์ทางการทูตเน้นอินโด-แปซิฟิก โดยมี ญี่ป่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน นิวซีแลนด์และไทยเป็นพันธมิตร ใช้ 3 กรอบคืออาเซียน เอเปคและ “Quad” (อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย) เป็นพื้นที่ทำการด้านความมั่นคง และยุทธศาสตร์ภูมิภาคต่อต้านจีน สร้างค่านิยมสหรัฐฯ ต่อฮ่องกง และซินเจียง สร้างค่านิยมทางเศรษฐกิจผ่านการค้าแบบตลาดเสรี
ขณะที่ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งห้ามบริษัทจีน 59 รายระดมทุนในสหรัฐซึ่งเป็นการสานต่อมาตรการเดิมที่ริเริ่มในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมีการสั่งห้ามบริษัทจีนข้างต้นที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับกองทัพจีนหรือมีบทบาทในอุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฮเทคที่ใช้ในการสอดแนมหรือการเฝ้าระวังซึ่งอาจมีการนำไปใช้ละเมิดสิทธิมนุษยชน เข้าไประดมทุนในตลาดสหรัฐ และห้ามบริษัทอเมริกันลงทุนในบริษัทเหล่านี้ ในจำนวนดังกล่าวรวมถึงบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ และบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดของจีนอีก 3 รายด้วย(ไชน่าโมบายล์ ไชน่ายูนิคอม และไชน่าเทเลคอม) โดยคำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 สิงกาคม 2564 โดยนักลงทุนมีเวลา 1 ปีเพื่อถอนการลงทุนอย่างเต็มรูปแบบ
ดร.อัทธ์ กล่าวว่า ในปี 2564 เป็นปีที่สหรัฐฯ เตรียมแผนและกฎหมายเพื่อต่อต้านจีน และหลังจากนี้อีก 5 ปีข้างหน้า (2565-2570) จะเห็นสงครามเต็มรูปแบบ ซึ่งไทยและอาเซียนจะต้องวางนโยบายหรือยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องและเท่าทันในทุกด้านกับจีนและสหรัฐฯ
“ไทยต้องปรับตัวให้รู้เท่าทันกับข้อพิพาทสหรัฐฯ และจีนที่กำลังจะเกิดขึ้นนับจากนี้ ซึ่งหากสินค้าหรืออุตสาหกรรมใดที่เราอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสหรัฐและจีนอาจจะได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม”
จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดประทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรระบุว่าในปี 2563 จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย(ไม่นับอาเซียน)โดยการค้าไทย-จีน(ส่งออก+นำเข้า)มีมูลค่า 2.49 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.55% คิดเป็นสัดส่วน 18.51% ที่ไทยค้ากับโลก ส่วนช่วง 4 เดือนแรกปีนี้การค้าไทย-จีนมีมูลค่ารวม 9.52 แสนล้านบาท ขยายตัว 21.15% คิดเป็นสัดส่วน 18.23% ที่ไทยค้ากับโลก
ขณะที่สหรัฐฯเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในปี 2563 โดยมีมูลค่าการค้ารวม 1.53 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.01% คิดเป็นสัดส่วน 11.20% ที่ไทยค้ากับโลก ขณะ 4 เดือนแรกปี 2564 การค้าไทย-สหรัฐมีมูลค่ารวม 5.24 แสนล้านบาท ลดลง 8.53% และคิดเป็นสัดส่วน 10.20% ที่ไทยค้ากับโลก
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,686 วันที่ 10 - 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564