มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า ภายในเวลา 90 วันหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนดังกล่าว ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์/บิออนเทค และ วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ในการป้องกันการติดเชื้อจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 75% และ 61% ตามลำดับ ซึ่งเป็นการลดจาก 85% และ 68% หลังการฉีดวัคซีน 2 สัปดาห์ และในกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ประสิทธิภาพวัคซีนจะลดลงมากกว่ากลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า
คณะผู้วิจัยไม่ได้คาดการณ์ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงอีกเท่าใดในอนาคต แต่ก็ได้ระบุว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองยี่ห้อน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกันหลังจากฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ไปแล้ว 4-5 เดือน
งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ข้อมูลจากการตรวจหาเชื้อโควิดทางจมูกและลำคอมากกว่า 3 ล้านตัวอย่างจากทั่วประเทศอังกฤษ และยังพบด้วยว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนของบริษัทใดบริษัทหนึ่งครบทั้ง 2 โดสแล้ว อาจมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้มากกว่าผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่นๆ
"วัคซีนของทั้ง 2 บริษัทนี้ หากฉีดครบโดส ก็ยังถือว่ามีประสิทธิภาพมากในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า เพราะหากประสิทธิภาพเริ่มต้นสูงมาก แม้ลดลงมาก ก็ยังสูงอยู่" ซาร่า วอล์กเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านสถิติการแพทย์จากอ็อกซ์ฟอร์ดและผู้นำทีมวิเคราะห์ผลสำรวจครั้งนี้ กล่าวสรุป