สำนักข่าวเกียวโดรายงานวานนี้ (7 ก.ย.) อ้างอิงแหล่งข่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่น กำลังพิจารณาขยายเวลาการใช้มาตรการฉุกเฉิน เพื่อควบคุม การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกรุงโตเกียวและจังหวัดอื่นๆ ออกไปหลังวันที่ 12 ก.ย.นี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข และทำให้รัฐบาลยังไม่สามารถผ่อนคลายข้อกำหนดให้กับภาคธุรกิจได้ในขณะนี้
แหล่งข่าวระบุ รัฐบาลญี่ปุ่นอาจจะขยายเวลาการใช้มาตรการฉุกเฉินออกไปอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ แต่การที่นายโยชิฮิเดะ ซูงะ มีแผนเตรียมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้มีความเป็นไปได้ว่า สุดท้ายแล้วญี่ปุ่นอาจต้องขยายเวลาการใช้มาตรการฉุกเฉินออกไปยาวกว่าที่คาด โดยอาจจะเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) คนใหม่ มีเวลาในการตัดสินใจว่าควรจะยุติมาตรการดังกล่าวเมื่อใด
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นจะจัดการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค LDP ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ ซึ่งผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป
ปัจจุบัน 21 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัดในญี่ปุ่น ยังคงอยู่ภายใต้มาตรการฉุกเฉิน ซึ่งหมายความว่า ประชาชนจะได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ ขณะที่สถานประกอบการที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาราโอเกะจะถูกสั่งปิดกิจการชั่วคราว และสถานประกอบการที่ไม่ได้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะได้รับอนุญาตให้เปิดบริการจนถึงเวลา 20.00 น.เท่านั้น
หันมาที่ ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นอีก 1 ประเทศในอาเซียนที่ จำเป็นต้องเลื่อนแผนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ในพื้นที่เมืองหลวง กรุงมะนิลาออกไปก่อน แม้ว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์จะเพิ่งประกาศเมื่อวันจันทร์ (6 ก.ย.) ว่ากำลังเตรียมจะผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้วก็ตาม
สื่อรายงานอ้างอิงการให้สัมภาษณ์ของนายแฮร์รี โร้ก โฆษกประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ว่า ยังคงมีความจำเป็นต้องบังคับใช้มาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้มงวดระดับ 2 ในพื้นที่กรุงมะนิลาต่อไป แม้ว่ารัฐบาลเพิ่งจะประกาศเตรียมผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อ 1 วันก่อนหน้า
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้จะยิ่งทำให้เกิดความล่าช้าในแผนของรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการควบคุมโควิด-19 เป็นการล็อกดาวน์แบบ “จำกัดพื้นที่” ซึ่งนายโร้กยืนยันว่า เป็นแนวทางที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตได้ให้การอนุมัติแล้ว
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อและยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มากที่สุดของทวีปเอเชีย และประสบปัญหาในการรับมือกับโควิด-19 มาตั้งแต่เดือนมี.ค. 2563 ซึ่งยิ่งสร้างแรงกดดันให้กับเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ที่หดตัวกว่า 9% ในปี 2562
อีก 1 ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังคงจำเป็นต้องล็อกดาวน์เมืองหลวงอย่างเข้มงวด คือ เวียดนาม ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เพิ่มการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกรุงฮานอย หลังขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเข้มงวดออกไปอีกสองสัปดาห์
ทางการกรุงฮานอยของเวียดนามขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคเข้มงวดออกไปอีกสองสัปดาห์ โดยให้ประชาชนอยู่ภายในบ้านและระงับกิจกรรมที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ ยังแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตสีคือสีแดง สีส้ม และสีเขียว ตามสถานการณ์การระบาด
แถลงการณ์เจ้าหน้าที่กรุงฮานอยระบุว่า ผู้ที่ถูกกักตัวดูอาการในเขตพื้นที่สีแดงจะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ส่วนผู้อยู่ในเขตพื้นที่สีอื่น ๆ จะต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อทุก ๆ 5-7 วัน
ทั้งนี้ กรุงฮานอยรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เฉลี่ยวันละ 50 คน และมียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่กว่า 4,100 คน เจ้าหน้าที่พยายามควบคุมการระบาดอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้สถานการณ์รุนแรงเหมือนในนครโฮจิมินห์ที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด
เวียดนามเคยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการยกย่องว่าสามารถป้องกันและบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างยอดเยี่ยม แต่นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา สถานการณ์ในเวียดนามก็เลวร้ายลง จากที่เคยพบผู้ติดเชื้อวันละหลักสิบ ก็กลายเป็นหลักหมื่น นอกจากนี้ นครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเวียดนาม ยังได้กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 เฉพาะในนครโฮจิมินห์นั้น ยอดผู้ป่วยโควิดสะสมเกือบ 260,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด 10,685 ราย
ข่าวระบุว่า ประมาณ 80% ของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 และครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อในระลอกใหม่นี้ของทั้งประเทศเวียดนาม เกิดขึ้นในนครโฮจิมินห์