แถลงการณ์ที่ปรากฎในเว็บไซต์ของ ธนาคารกลางจีน ระบุว่า ธนาคารกลางจะใช้นโยบายการเงินอย่างยืดหยุ่น เหมาะสม และตรงเป้าหมาย เพื่อให้ความคุ้มครองสิทธิทางกฎหมายของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบในตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีการระบุถึง บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่อันดับ 2 ของจีน ได้ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 2 งวดที่มีกำหนดชำระวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยบริษัทผิดนัดชำระดอกเบี้ยวงเงิน 232 ล้านหยวน หรือราว 35.88 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้สกุลเงินหยวนที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ย.2568 รวมทั้งดอกเบี้ยวงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2565
อย่างไรก็ดี เอเวอร์แกรนด์ยังคงมีระยะเวลาผ่อนผันอีก 30 วัน (นับจากวันที่เป็นกำหนดชำระหนี้) ในการหาทางระดมทุน ก่อนที่จะถูกประกาศอย่างเป็นทางการว่าบริษัทผิดนัดชำระหนี้
นอกจาก 2 งวดดังกล่าวข้างต้น เอเวอร์แกรนด์ยังมีกำหนดชำระดอกเบี้ยวงเงิน 47.5 ล้านดอลลาร์ในวันที่ 29 ก.ย.ที่จะถึงนี้ สำหรับหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค.2567 หลังจากนั้น เอเวอร์แกรนด์ยังมีกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ “ทุกเดือน” ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งได้แก่ เดือนต.ค.,พ.ย.และธ.ค.
แม้ว่า นายสวี เจียหยิ่น ประธานบริษัท จะออกแถลงการณ์สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนเมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 ก.ย. แต่สุดท้ายเอเวอร์แกรนด์ก็ได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยไม่ได้ออกมาให้คำอธิบายใด ๆ
แม้เอเวอร์แกรนด์จะผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้มาหลายวันแล้ว ขณะที่มีดอกเบี้ยงวดใหม่ที่รอการชำระอยู่ในสัปดาห์นี้ แต่ผู้บริหารของบริษัทก็ยังคงเก็บตัวเงียบเชียบ โดยไม่ได้ออกแถลงการณ์ใดๆต่อผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัท รวมทั้งไม่ได้ยื่นหนังสือชี้แจงต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของฮ่องกง
ก่อนหน้านี้ ทางการจีนได้แจ้งเตือนเอเวอร์แกรนด์ให้ทำการชำระหนี้หุ้นกู้สำหรับนักลงทุนรายย่อย รวมทั้งหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้สำหรับหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ แต่เหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ก็ยังเกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนรอดูว่าบริษัทจะสามารถระดมทุนมาชำระหนี้ได้ภายใน 30 วันหรือไม่
สื่อต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหนี้ต่างชาติที่ถือหุ้นกู้สกุลดอลลาร์ของเอเวอร์แกรนด์ ต่างก็ไม่ได้คาดหวังว่าทางบริษัทจะสามารถชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระในสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ บรรดาเจ้าหนี้ยังคงไม่ได้รับการติดต่อจากทางบริษัทเกี่ยวกับการชำระหนี้หุ้นกู้ ขณะที่เอเวอร์แกรนด์เองก็ยังไม่มีการประกาศแผนการชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ดังกล่าวแต่อย่างใด
ข้อมูลจากบริษัทวิจัย มอร์นิงสตาร์ ไดเร็คท์ ( Morningstar Direct) ระบุว่า กองทุนขนาดใหญ่ของต่างชาติที่ได้เข้าซื้อหุ้นกู้จำนวนมากของเอเวอร์แกรนด์นั้น ได้แก่
นอกจากนี้ Ashmore Group และ BlueBay Asset ก็ได้ถือครองหุ้นกู้ของเอเวอร์แกรนด์เช่นกัน
หลายวันที่ผ่านมา ทางการจีนได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในมณฑลต่าง ๆ เตรียมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า คำเตือนดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลจีนไม่มีความประสงค์ที่จะเข้ากอบกู้กิจการของเอเวอร์แกรนด์ แต่จะเตรียมพร้อมรับมือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจและสังคมของจีน หากเอเวอร์แกรนด์ต้องประสบกับภาวะล้มละลายในที่สุด
เจ้าหน้าที่ระบุว่าคำเตือนของทางการจีนเหมือนกับคำสั่งให้"เตรียมพร้อมรับมือพายุที่จะเกิดขึ้น" ขณะที่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจต่างๆได้รับการกำชับจากทางการว่า ให้มีการดำเนินการในนาทีสุดท้ายก่อนที่เอเวอร์แกรนด์จะล้มละลาย เพื่อบริหารจัดการสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ด้านเอเวอร์แกรนด์เอง ได้เคยออกแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ ยอมรับว่าบริษัทกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง และอาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
ทั้งนี้ เอเวอร์แกรนด์มีตราสารหนี้เชิงพาณิชย์มูลค่ารวม 2.057 แสนล้านหยวน (3.2 หมื่นล้านดอลลาร์) หรือราว 1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 นอกจากนี้ บริษัทยังมีหนี้สินมากกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 10 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศจีน