ธนาคารกลางจีน อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบจำนวน 1.10 แสนล้านหยวน (1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นจำนวนเงินมากที่สุดในรอบ 8 เดือน หลังจากตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตหนี้สินของบริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับ 2 ของจีน
นักลงทุนในตลาดการเงินคาดการณ์ว่า ความเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดของธนาคารกลางจีนมีเป้าหมายที่จะทำให้ตลาดคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่บริษัทเอเวอร์แกรนด์จะผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ บริษัทมีกำหนดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 งวดในวันที่ 23 ก.ย. โดยเป็นกำหนดจ่ายดอกเบี้ยวงเงิน 232 ล้านหยวน หรือราว 35.88 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนก.ย. 2568 และเป็นกำหนดจ่ายดอกเบี้ยอีกก้อนหนึ่งวงเงิน 83.5 ล้านดอลลาร์สำหรับหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนมี.ค. 2565
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ก.ย.) ธนาคารกลางจีนได้อัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินครั้งหนึ่งแล้ว จำนวน 9 หมื่นล้านหยวน (1.88 หมื่นล้านดอลลาร์) และอัดฉีดเงินอีกจำนวน 1 แสนล้านหยวนในวันเสาร์ (18 ก.ย.) โดยมีเป้าหมายที่จะหลีกเลี่ยงภาวะสภาพคล่องตึงตัวในระบบหลังจากบริษัทเอเวอร์แกรนด์ประสบปัญหาสภาพคล่องลดลง และมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้
ล่าสุด สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปีนี้ (2564) ลงสู่ระดับ 8.1% จากระดับ 8.4% โดยระบุว่าการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์จีนจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศ
ทั้งนี้ ฟิทช์ ประกาศปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนเมื่อวันพฤหัสฯ (23 ก.ย.) หลังจากที่ก่อนหน้านั้น แบงก์ ออฟ อเมริกาได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลข GDP ปีนี้ของจีนลงสู่ระดับ 8% จากระดับ 8.3% และได้ปรับลด GDP ในปีหน้าลงสู่ระดับ 5.6% จากระดับ 6.2% อันเนื่องมาจากปัญหาหนี้สินของบริษัทเอเวอร์แกรนด์ รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งได้แก่ การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 และการที่รัฐบาลออกมาตรการควบคุมภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง