ผลวิจัยชี้วัคซีนโควิดของไฟเซอร์ประสิทธิภาพลดเหลือ 47% หลังฉีด 6 เดือน

05 ต.ค. 2564 | 04:58 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ต.ค. 2564 | 12:05 น.

งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Lancet ชี้ให้เห็นว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลง จากเดิม 88% เหลือเพียง 47% หลังฉีดโดสสองไปได้ 6 เดือน

นักวิจัยจาก บริษัทไฟเซอร์ และ ไคเซอร์ เพอร์มาเนนเต้ เปิดเผยผลการศึกษา ประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ไฟเซอร์พัฒนาขึ้นร่วมกับ บริษัท บิออนเทค ของเยอรมนี โดยระบุว่า วัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดลง จากเดิม 88% เหลือเพียง 47% หลังฉีดโดสสองไปได้ 6 เดือน

 

ข้อมูลดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ Lancet หลังจากที่ได้ประกาศผลการศึกษาไปก่อนหน้านี้เมื่อเดือนส.ค. แต่เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้ผ่านการทบทวนโดยผู้วิจัยรายอื่น ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทางการสหรัฐใช้เพื่อประเมินว่าควรฉีดวัคซีนเข็มสามเพื่อกระตุ้นภูมิหรือไม่

 

นักวิจัยเปิดเผยว่า ตัวเลขประสิทธิภาพที่ลดลงไม่ได้มีสาเหตุจากการกลายพันธุ์ของไวรัส โดยเป็นเพียงการลดลงตามปกติทั่วไปของวัคซีน

ผลวิจัยชี้วัคซีนโควิดของไฟเซอร์ประสิทธิภาพลดเหลือ 47% หลังฉีด 6 เดือน

ส่วนประสิทธิภาพในการป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตนั้นยังคงอยู่ที่ 90% เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน แม้เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาก็ตาม

 

ลูอิส โฮดาร์ รองประธานอาวุโสและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการแพทย์ประจำแผนกวัคซีนของไฟเซอร์กล่าวว่า "ผลการวิเคราะห์เจาะจงสายพันธุ์แสดงให้เห็นชัดเจนว่า วัคซีนของไฟเซอร์และบิออนเทค มีประสิทธิภาพกับสายพันธุ์ที่น่ากังวลทุกสายพันธุ์ รวมถึงเดลตา" โดยผลการวิจัยดังกล่าวมาจากการศึกษาระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชนราว 3.4 ล้านคนระหว่างเดือนธ.ค. 2563 ถึงเดือนส.ค. 2564