เปิดผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์ Pfizer ในเด็ก -ผู้ใหญ่ มีอะไรบ้าง เช็คที่นี่

04 ต.ค. 2564 | 08:27 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2564 | 15:40 น.

เปิดรายงานผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์ Pfizer ประสิทธิภาพการป้องกันโรคโควิด-19 รวมถึงทำความรู้จักวัคซีนชนิด mRNA ที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้กับเด็กอายุ 12-18 ปี ในไทยเป็นชนิดแรก รายละเอียดทั้งหมดจะมีอะไรบ้าง เช็คก่อนฉีดได้เลยที่นี่

วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ถือเป็นวันแรกที่เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ Pfizer ให้เด็กนักเรียนอายุตั้งแต่ 12-18 ปีเป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นก่อนจะเปิดเทอม อย่างไรก็ดีผู้ปกครอง หรือใครหลายคนอาจจะยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียงวัคซีนไฟเซอร์ 

 

ดังนั้นวันนี้"ฐานเศรษฐกิจ"ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนไฟเซอร์ มานำเสนอ นำโดย บทความจาก ศ. พญ.ธนินี สหกิจรุ่งเรือง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ว่าวัคซีนไฟเซอร์ Pfizer  เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ที่มีการอนุมัติใช้กับเด็กอายุตั้งแต่ 12-18 ปี ภายในประเทศไทยเป็นชนิดแรก (ณ เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564) 

 

โดยมีข้อมูลการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัย ดังต่อไปนี้

ประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer ในเด็ก

  • วัคซีน Pfizer มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันโรคโควิด-19 ที่แสดงอาการ เมื่อเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพการป้องกันในผู้ใหญ่
  • วัคซีน Pfizer สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็ก ระดับใกล้เคียงกับผู้ใหญ่อายุ 16-25 ปี โดยมีระดับภูมิคุ้มกันอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก

 

ผลข้างเคียงของวัคซีน Pfizer ในเด็ก

  • ผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น เจ็บบริเวณตำแหน่งที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ
  • อาการข้างเคียงเฉพาะที่ที่เกิดขึ้นเล็กน้อย เช่น บวม แดงในตำแหน่งที่ฉีด
  • อาการข้างเคียงทั้งระบบ เช่น ไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
  • อาการข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเป็นอาการข้างเคียงที่พบรายงานในอัตราต่ำมาก

คำแนะนำจากแพทย์

  • จากภาพรวมข้อมูลด้านประสิทธิภาพของวัคซีน Pfizer ที่มีการฉีดในเด็กพบว่า มีผลดีมากกว่าผลข้างเคียง ซึ่งพบได้ในอัตราที่ต่ำ ปัจจุบันในประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนในผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงซึ่งขณะนี้มีเพียงวัคซีนชนิด mRNA เช่น วัคซีน Pfizer ที่มีข้อแนะนำให้สามารถฉีดในเด็กได้ ส่วนวัคซีนชนิดอื่น ๆ เช่น วัคซีนชนิดเชื้อตาย หรือชนิดไวรัสเวกเตอร์ ยังไม่มีคำแนะนำการฉีดในเด็ก

 

ผลข้างเคียงของวัคซีน Pfizer ในเด็ก


ส่วนรพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชันแนล หนองแขม ก็ได้เผยแพร่บทความเรื่อง"รู้จักวัคซีนไฟเซอร์ Pfizer ดีไหม ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร" โดยเนื้อหาระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) เป็นวัคซีนที่ผลิตด้วยวิธีใหม่ล่าสุดที่เรียกว่า mRNA  ซึ่งไม่เคยมีการผลิตวัคซีนด้วยวิธีนี้มาก่อน เป็นการจำลองสารพันธุกรรมโมเลกุล คล้ายหนามของเชื้อไวรัส หนามของไวรัสมีหน้าที่จับเซลล์ในร่างกายทำให้ติดเชื้อ mRNA มีไขมันอนุภาคนาโนห่อหุ้มอยู่ เพื่อป้องกันการย่อยสลายจากเอนไซม์

 

หลังจากฉีดวัคซีน mRNA เข้าไป เซลล์ในร่างกายจะกินไขมันดังกล่าว ทำให้เซลล์ผลิตสารโปรตีนที่คล้ายหนามของไวรัส โปรตีนก็จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเพื่อป้องกันไวรัส

รู้จักวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer)

  • วัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer) มีชื่อทางการว่า BNT162b2 เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ชนิด mRNA ที่คิดค้นโดยบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ร่วมกับบริษัทสัญชาติเยอรมันชื่อไอโบเอ็นเท็ค (BioNTech) ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ (Food and Drug Administration: FDA) เพื่อป้องกันโรคโควิด 19 และ WHO ให้การรับรองเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2563
  • สำหรับในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการอนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ให้สามารถใช้ได้ในประเทศไทย เมื่อวัน 24 มิถุนายน 2564 นับเป็นวัคซีนโควิดรายที่ 6 ที่ผ่านการอนุมัติจาก อย.

ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์

  • หลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 แล้ว จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด 19 สูงถึง 91.3% ในช่วง 7 วันถึง 6 เดือนหลังฉีด
  • ป้องกันความรุนแรงของโรคได้ 100%
  • ป้องกันการติดเชื้อมีอาการที่ 94%
  • ป้องกันการติดโรค 96.5%
  • ป้องกันการเสียชีวิต 98-100%

 

แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันว่า หลังจากรับวัคซีนไฟเซอร์แล้วจะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสู่คนอื่นได้มากน้อยเพียงใด เพราะภายใน 10 วันหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก อาจยังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ เนื่องจากร่างกายยังไม่สามารถสร้างแอนติบอดี้ (Antibodies) ได้เต็มที่

 

อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของวัคซีนวัดจากการทดลองทางคลินิก ซึ่งอาจมีการควบคุมกลุ่มทดลอง แต่ในการนำมาใช้กับประชากรจริง ประสิทธิภาพมีโอกาสที่จะต่ำกว่าผลที่สรุปในการทดลองเนื่องจากหลายปัจจัย เช่น การกลายพันธุ์ของไวรัส

 

ประสิทธิภาพต่อโควิดกลายพันธุ์
มีรายงานหลายชุดแต่โดยรวมชี้ว่าสามารถป้องกันและลดความรุนแรงของ โควิดสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้ เช่น รายงานที่เผยแพร่ทาง the new england journal of medicine ชี้ว่า

  • วัคซีนไฟเซอร์ สามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษ หรือ อัลฟ่า ได้ถึง 89.5%
  • ป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือ เบต้า ได้ถึง  75%
  • หรืองานวิจัยของ หน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ ก็ชี้ว่า ไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพ 88% ในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการจากไวรัส เดลต้าหรืออินเดีย


วัคซีนโควิดไฟเซอร์ฉีดอย่างไร?

  • วัคซีนโควิดไฟเซอร์ฉีดทั้งหมด 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 21-28 วัน ใช้วิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแขนด้านบน ภูมิคุ้มกันจะเริ่มเกิดหลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้ว 12 วัน แต่ภูมิคุ้มกันจะทำงานเต็มที่หลังจากฉีดครบ 2 เข็ม
  • ปัจจุบันยังคงต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพในการป้องกันระยะยาวในกรณีที่ฉีดเข็มแรกเพียงเข็มเดียว

 

อายุผู้ฉีด

  • ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไป

ผลข้างเคียงของวัคซีนโควิดไฟเซอร์

ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย และไม่รุนแรงของวัคซีนไฟเซอร์ มีดังนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • ปวดข้อต่อ
  • ท้องเสีย
  • อ่อนเพลีย
  • ปวด บวม หรือรอยแดงบริเวณที่ฉีด
  • โดยผลข้างเคียงเหล่านี้อาจเริ่มใน 1-2 วันหลังจากรับวัคซีน จากกลุ่มทดลองพบว่าผลข้างเคียงเกิดขึ้นหลังจากฉีดเข็มที่ 2 และควรจะหายไปในไม่กี่วัน

 

ผลข้างเคียงที่พบได้ยาก อาจมีดังนี้

  • เป็นลม
  • เวียนศีรษะ
  • การมองเห็นผิดปกติ
  • รู้สึกชาตามร่างกาย
  • หากมีอาการดังที่กล่าวมานี้หลังจากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ควรแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที นอกจากนี้การหาที่นั่งพัก หรือนอนราบอาจช่วยให้อาการบรรเทาลงได้

 

อาการแพ้วัคซีนไฟเซอร์ ถือเป็นภาวะเร่งด่วนที่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือแพทย์ทันที อาจมีดังนี้

  • มีผื่นขึ้นตามตัว
  • มีอาการคัน บวม ตามจุดต่างๆ โดยเฉพาะใบหน้า ลิ้น และลำคอ
  • เวียนศีรษะมาก
  • หายใจลำบาก
  • อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวอาจไม่ใช่อาการทั้งหมดที่มีโอกาสเกิดได้ หากมีอาการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด้านบน ควรติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันที
     

ประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์

 

ที่มาข้อมูล-ภาพ

รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

รพ.วิชัยเวช อินเตอร์เนชันแนล หนองแขม