นายกัน คิม หยง รัฐมนตรีการค้าสิงคโปร์ เปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า สิงคโปร์ กำลังหารือกับหลายประเทศซึ่งรวมถึงยุโรปและสหรัฐอเมริกา เพื่อเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว
นายกันซึ่งมีกำหนดเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาในสัปดาห์นี้ กล่าวว่า เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถเปิดเส้นทางบินใหม่นอกเหนือจากเยอรมนีและบรูไนได้ภายในสิ้นปีนี้ หรือเร็วกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม สหรัฐได้ออกแถลงการณ์เตือนประชาชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า การเดินทางไปสิงคโปร์มีความอันตรายมากขึ้น โดยระบุว่าสิงคโปร์มีโควิด-19 ใน "ระดับสูง" เนื่องจากมีการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันเกิน 1,000 รายต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.ย.
ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ ระบุว่า "ผู้เดินทางทุกคนอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19" พร้อมยกระดับคำแนะนำการเดินทางไปสิงคโปร์ขึ้นเป็นระดับ 3 จากทั้งหมดที่มี 4 ระดับ
ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยขณะนี้ ชาวสิงคโปร์ราว 85% ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ขณะที่ 82% ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในเกณฑ์สูง โดยล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์เผยว่า เมื่อวันอังคาร(5ต.ค.) พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในรอบ 24 ชั่วโมงจำนวนถึง 2,475 ราย ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 106,318 ราย ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น 8 ราย เป็น 121 ราย
นักวิเคราะห์ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลสิงคโปร์กำลังต่อสู้กับยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19ที่เพิ่มขึ้นหลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมบางส่วนในเดือนส.ค. ประกอบกับการที่รัฐบาลเพิ่มความถี่ในการตรวจหาเชื้อโควิดให้กับประชาชน จึงพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
นายลอว์เรนซ์ หว่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ความเป็นจริงที่ประชาชนต้องยอมรับให้ได้ในตอนนี้ ก็คือยอดผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มขึ้น และระบบการดูแลสุขภาพของประเทศ ตลอดจนบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพของสิงคโปร์ ยังคงเผชิญแรงกดดันหลายด้าน
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลสิงคโปร์แสดงให้เห็นว่าพลเมืองในประเทศสามารถดำเนินชีวิตโดยมีโรคโควิด-19เป็นโรคระบาดในประเทศต่อไปได้เหมือนเช่นกรณีของโรคหวัด แต่ในระยาวสิ่งนี้น่าจะเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับสิงคโปร์ เนื่องจากวิกฤตด้านสาธารสุขครั้งนี้ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ ผู้คนสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ และศูนย์กลางการค้าก็ค้นพบแนวทางใหม่ๆในการดึงดูดผู้คนและการลงทุน แต่ปัญหาอื่นๆ ก็ยังคงมีอยู่ เช่น สิงคโปร์จะสามารถรับมือกับปัญหาประชากรสูงวัยได้หรือไม่ และจะปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเหล่าแรงงานที่ได้ค่าแรงต่ำอย่างไร