นายชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐ จากพรรคเดโมแครต ประกาศวานนี้ (7 ต.ค.) ว่า แกนนำของพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันสามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับ การเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐ จนถึงต้นเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสหรัฐสามารถ หลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ในเดือนนี้
อย่างไรก็ดี นายชูเมอร์ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดว่าข้อตกลงดังกล่าวมีการระบุ “วงเงินเพดานหนี้” หรือไม่ หรือระบุแต่เพียงการขยายเวลาออกไป แต่ผู้ช่วยวุฒิสมาชิกรายหนึ่ง ซึ่งไม่ประสงค์จะเอ่ยนาม เปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐอีก 4.80 แสนล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 28.9 ล้านล้านดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ระดับ 28.4 ล้านล้านดอลลาร์
นายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน เคยเสนอให้มีการเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐจากระดับ 28.4 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน สู่อีกระดับหนึ่งที่มีการกำหนดวงเงินตายตัว อย่างไรก็ดี พรรคเดโมแครตต้องการให้มีการระงับการกำหนดวงเงินของเพดานหนี้โดยสิ้นเชิง หรือให้มีการเพิ่มเพดานหนี้จนถึงสิ้นปี 2565
หากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันที่ 18 ต.ค. ก็จะส่งผลให้สหรัฐเผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
ก่อนหน้านี้ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้ออกมากล่าวเตือนว่า หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติการเพิ่มเพดานหนี้ เงินสดในคลังของรัฐบาลจะหมดลงภายในวันที่ 18 ต.ค.นี้ และหลังจากนั้นก็ยังไม่แน่ว่าสหรัฐจะมีเงินชำระหนี้หรือไม่
เยลเลนยังชี้แจงถึงปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมาหากสภาไม่เพิ่มเพดานหนี้ให้ นั่นหมายถึงรัฐบาลจะไม่สามารถจ่ายเงินเดือนข้าราชการหรือชำระหนี้ของชาติ ทั้งยังทำให้ความเชื่อมั่นในเงินดอลลาร์ในฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศลดลง และจะส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถชำระหนี้ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศ และยังจะกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง กระตุ้นให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น ราคาหุ้นร่วงหนัก หรือผลักดันให้เกิดความปั่นป่วนทางการเงิน
ในจดหมายล่าสุดของเยลเลนที่ส่งไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เธอระบุชัดเจนว่า สภาต้องอนุมัติการเพิ่มเพดานหนี้อย่างเร่งด่วน เพราะหากรอจนถึงนาทีสุดท้าย ก็อาจสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค รวมทั้งทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการกู้เงิน และเป็นผลร้ายต่ออันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐในอนาคตข้างหน้า
ด้าน นายจอยดีป มัคเฮอร์จี นักวิเคราะห์ของ เอสแอนด์พี โกลบอล เรทติ้งส์ (S&P) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เคยกล่าวเตือนไว้เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า การผิดนัดชำระหนี้อาจส่งผลให้สหรัฐถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับ D ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด "หากสหรัฐผิดนัดชำระหนี้ ก็ถือเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับประเทศรายใหญ่ในกลุ่ม G7 อย่างสหรัฐอเมริกา"
ในเดือนส.ค.ปี 2554 นั้น S&P ได้เคยปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐลงสู่ระดับ AA+ จากระดับสูงสุดที่ AAA มาครั้งหนึ่งแล้ว เนื่องจากรัฐบาลในยุคของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งบริหารประเทศในช่วงขณะนั้น เผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงมาก และสภาคองเกรสในช่วงเวลาดังกล่าวมีความขัดแย้งกันเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้