สิงคโปร์โต้ฮ่องกงกรณีสาร “อะคริลาไมด์” ในอาหาร ย้ำกินได้ในปริมาณพอเหมาะ

30 ต.ค. 2564 | 04:48 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ต.ค. 2564 | 12:05 น.

หน่วยงานกำกับดูแลด้านอาหารของสิงคโปร์ออกมายืนยันโต้ตอบหน่วยงานของฮ่องกงว่า การกินขนมปังกรอบ (บิสกิต) ของทอด และขนมกรุบกรอบอื่นๆ มีความปลอดภัยเมื่อบริโภคในปริมาณพอเหมาะ  ย้ำไม่มีหลักฐานชี้ชัดสารประกอบก่อมะเร็ง

หนังสือพิมพ์ สเตรทส์ไทมส์ สื่อใหญ่ของสิงคโปร์รายงานวานนี้ (29 ต.ค.) ว่า สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (SFA) แถลงการณ์ระบุ ขนมปังกรอบ (บิสกิต) และสินค้าอื่น ๆ ประเภททอด อบ และคั่ว มีความปลอดภัยเมื่อรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ

 

SFA ออกแถลงการณ์ดังกล่าว หลังจากที่เมื่อต้นเดือนต.ต.นี้ สภาผู้บริโภคฮ่องกง ได้ออกรายงานว่า พบ สารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ในตัวอย่างบิสกิต 60 รายการที่นำมาทดสอบ โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า ได้มีการตรวจสอบพบสารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) สารไกลซิดิล แฟตตี เอซิด เอสเทอร์ (Glycidyl Fatty Acid Esters - GE) และสาร 3-MCPD เอสเทอร์ ซึ่งเป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเมื่ออาหารผ่านการแปรรูปที่อุณหภูมิสูง และในภาวะที่มีความชื้นต่ำ

สิงคโปร์โต้ฮ่องกงกรณีสาร “อะคริลาไมด์” ในอาหาร ย้ำกินได้ในปริมาณพอเหมาะ

ขณะที่รายงานของฮ่องกงระบุว่า สารประกอบดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง แต่ทาง SFA ของสิงคโปร์ตอบโต้ว่า สำนักงานเพื่อการวิจัยโรคมะเร็งระหว่างประเทศยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดว่า สารประกอบเหล่านี้อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์

 

"สารประกอบเหล่านี้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อผลิตภัณฑ์อาหารถูกแปรรูปที่อุณหภูมิสูงและความชื้นต่ำ การผลิตบิสกิตและแครกเกอร์เกี่ยวข้องกับกระบวนการแปรรูปอาหารที่อุณหภูมิสูง และการใช้ส่วนผสมที่มีไขมันและน้ำมันที่ผ่านการกลั่น ดังนั้น จึงคาดได้ว่าสารอะคริลาไมด์ สาร GE และสาร 3-MCPD เอสเทอร์ จะถูกตรวจพบในตัวอย่างบิสกิตและแครกเกอร์ที่ถูกนำมาทดสอบ"

ข่าวระบุว่า ตัวอย่างบิสกิตที่ถูกทดสอบนั้นได้แก่ บิสกิตจากแบรนด์ทั่วไป เช่น โอรีโอ (Oreo), ริทซ์ (Ritz), จาคอบส์ (Jacob's), จูลี่ส์ (Julie's) และ ฮัปเส็ง (Hup Seng)

 

ด้านนายนูร์ ฮิชาม อับดุลลาห์ ผู้อำนวยการกรมสุขภาพของมาเลเซียเปิดเผยเมื่อวันพุธ (27 ต.ค.) ว่า ความเสี่ยงด้านสุขภาพจากสารก่อมะเร็งในส่วนผสมบางอย่างที่ใช้ในบิสกิตนั้น อยู่ในระดับต่ำ

 

เขาระบุเสริมว่า ขณะที่อะคริลาไมด์เป็นสารประกอบที่เกิดขึ้นระหว่างการแปรรูปอาหารหรือการผลิต แต่การผลิตก็สามารถควบคุมได้ด้วยการเลือกใช้วัตถุดิบ และกระบวนการที่เหมาะสม

 

SFA เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีมาตรฐานสากลที่ควบคุมขีดจำกัดสูงสุดของสารประกอบดังกล่าวในอาหาร

 

ด้าน คณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหาร (Codex Alimentarius Commission) ซึ่งเป็นองค์กรดูแลด้านความปลอดภัยของอาหารระหว่างประเทศ แนะนำให้บรรดาผู้ผลิตอาหารลดจำนวนสารประกอบเหล่านี้ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยที่ไม่กระทบห่วงโซ่อาหาร ซึ่งสิงคโปร์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกาก็ได้ดำเนินการในแนวทางที่คล้ายกัน

 

SFA ระบุว่า จะยังคงติดตามสถานการณ์คืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับสารประกอบเหล่านี้ และตรวจสอบระดับของสารประกอบในห่วงโซ่อาหารเพื่อรับประกันความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคสิงคโปร์