นายอับดิ มาฮามุด ผู้เชี่ยวชาญทีมสนับสนุนจัดการเหตุการณ์โควิด-19 ของ องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า แม้ว่าคนส่วนมากจะฟื้นตัวจาก โรคโควิด-19 ภายใน 5-7 วันหลังมีอาการ แต่ทาง WHO ก็ยังคงแนะนำให้ผู้ป่วยกักตัว14 วันต่อไป แต่การตัดสินใจเรื่อง ระยะเวลากักตัว จะต้องดูจากสถานการณ์ของแต่ละบุคคล
ทั้งนี้ ในประเทศต่าง ๆ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำ ระยะเวลาการกักตัวที่นานขึ้นอาจช่วยให้จำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ที่ระดับต่ำสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาการกักตัวที่สั้นลงอาจเป็นเรื่องเหมาะสมเพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ข้อมูลของ WHO ระบุว่า ณ วันที่ 29 ธ.ค. 2564 มี 128 ประเทศที่รายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ขณะที่ในแอฟริกาใต้ ซึ่งพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนหน้านั้น ก็มีจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงค่อนข้างเร็ว ขณะที่อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
อย่างไรก็ตาม นายมาฮามุดกล่าวว่า สถานการณ์จะไม่เป็นแบบเดียวกันในบางประเทศ
"ขณะที่การศึกษาล่าสุดทั้งหมดบ่งชี้ไปยังข้อเท็จจริงที่ว่า สายพันธุ์โอมิครอนส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนแทนที่จะเป็นปอด ซึ่งเป็นข่าวดี แต่บุคคลที่มีความเสี่ยงสูงและบุคคลที่ยังไม่ได้รับวัคซีนอาจจะเจ็บป่วยรุนแรงจากสายพันธุ์ดังกล่าวได้" เขากล่าวเสริม
ผู้เชี่ยวชาญของ WHO ยังเตือนด้วยว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอาจแซงหน้าสายพันธุ์อื่น ๆ ในเวลาไม่กี่สัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีประชาชนที่อ่อนแออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหมายรวมถึงผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
ล่าสุด ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐ เปิดเผยวันนี้ (5 ม.ค.) ว่า ณ วันที่ 1 ม.ค. จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในสหรัฐมีสัดส่วนราว 95.4% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดในประเทศ ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตามีสัดส่วนเพียง 4.6% นั่นหมายความว่า โอมิครอนนั้นได้ขยับขึ้นมาเป็น “สายพันธุ์หลัก” และใกล้ยึดสหรัฐครบ 100% แล้ว หลังจากที่เริ่มมีการตรวจพบสายพันธุ์ดังกล่าวเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 ธ.ค.2564