จับตา-อย่าตกใจ รู้จัก IHU โควิดสายพันธุ์ใหม่ พบในฝรั่งเศส  

05 ม.ค. 2565 | 07:45 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ม.ค. 2565 | 15:00 น.

ฝรั่งเศสพบไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ตั้งชื่อชั่วคราวว่า IHU เป็นลูกหลานแยกย่อยมาจาก B.1.640 และมีการกลายพันธุ์มากกว่าโอมิครอน ซึ่งหมายถึงอาจแพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าโอมิครอน รวมทั้งสามารถต้านทานวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น

สถาบัน Mediterranee Infection University Hospital Institute หรือ IHU แห่งประเทศ ฝรั่งเศส ออกแถลงการณ์วานนี้ (4 ม.ค.) ระบุว่า มีการตรวจพบ เชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ซึ่งมีจำนวนตำแหน่งการกลายพันธุ์มากกว่า สายพันธุ์โอมิครอน

 

ไวรัสโควิดสายพันธุ์ดังกล่าวมีชื่อว่า B.1.640.2 (เป็นสายพันธุ์แยกย่อยมาจาก B.1.640) หรือเรียกลำลองชั่วคราวตามชื่อสถาบันว่า “IHU” โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่พบผู้ติดเชื้อดังกล่าวจำนวน 12 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อบางรายมีประวัติเดินทางกลับจากประเทศแคเมอรูนในทวีปแอฟริกา นักวิทยาศาสตร์จาก IHU Mediterranee Infection พบโควิด-19 สายพันธุ์นี้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา (2564) ในเมืองมาร์แซย์ โดยผู้ติดเชื้อรายแรกเชื่อมโยงกับการเดินทางไปยังประเทศแคเมอรูน

 

ทั้งนี้ ไวรัสสายพันธุ์ IHU มีการกลายพันธุ์จำนวน 46 ตำแหน่งซึ่งมากกว่าสายพันธุ์โอมิครอน และอาจทำให้สายพันธุ์ IHU แพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่าโอมิครอน รวมทั้งสามารถต้านทานวัคซีนได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น และมีส่วนที่ขาดหายไปของเบส (deletion) 37 ตำแหน่ง ส่งผลให้มีกรดอะมิโนเปลี่ยนไปจากเดิม 30 ตำแหน่ง และ หายไป 12 ตำแหน่ง

 

พิจารณาเฉพาะกรดอะมิโนบนโปรตีนหนาม พบว่ามี 14 ตำแหน่งที่เปลี่ยน และ 9 ตำแหน่งที่หายไป โดยตำแหน่งสำคัญที่พบรวมไปถึง N501Y และ E484K ด้วย การเปลี่ยนแปลงลักษณะนี้จากตำแหน่งที่กลายพันธุ์ไปคาดว่าจะมีผลเรื่องการหนีภูมิคุ้มกันได้คล้ายๆกับโอมิครอน

จับตา-อย่าตกใจ รู้จัก IHU โควิดสายพันธุ์ใหม่ พบในฝรั่งเศส  

"การที่สายพันธุ์ดังกล่าวมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งทำให้มีความเสี่ยงที่จะแพร่ระบาด ต่อต้านยาและวัคซีนได้มากขึ้น หรือทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้ ดังนั้น โลกจะต้องจับตาไวรัสสายพันธุ์ IHU อย่างใกล้ชิด" แถลงการณ์จากสถาบัน IHU ระบุ

 

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ IHU ในประเทศอื่น ยกเว้นฝรั่งเศส และไม่มีสัญญาณว่า จะสามารถเอาชนะสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังระบาดหนักในฝรั่งเศส ปัจจุบันโอมิครอนในฝรั่งเศสมีสัดส่วนการระบาดคิดเป็น 60% ของการติดเชื้อใหม่ทั้งหมด

 

ขณะนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ตั้งชื่อไวรัสดังกล่าวตามตัวอักษรกรีก และยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนจัดอันดับความรุนแรงของสายพันธุ์ดังกล่าวด้วย

จับตา-อย่าตกใจ รู้จัก IHU โควิดสายพันธุ์ใหม่ พบในฝรั่งเศส  

ก่อนหน้านี้ WHO ได้ขึ้นทะเบียนจัดอันดับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนว่าเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concerns : VOC) ซึ่งขณะนี้มีการแพร่ระบาดมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

 

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้ว่า กระแสข่าวระบุว่า ไวรัสโควิดที่โลกเผชิญไม่ได้หยุดแค่โอมิครอน ยังมีสายพันธุ์อื่นๆมาอีก แต่จริงๆแล้วไวรัสที่พบในฝรั่งเศสไม่ใช่ตัวใหม่

 

โดยแต่เดิมนั้น เรามีสายพันธุ์โควิดที่น่าห่วงกังวล (VOC) 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา จากนั้นก็มีสายพันธุ์ที่เรียกว่า สายพันธุ์ที่น่าสนใจ หรือสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (Variant of Interest: VOI) และยังมีสายพันธุ์ VUM หรือ Variants Under Monitoring (สายพันธุ์ที่กำลังถูกจับตามองหรือเฝ้าติดตาม) ซึ่งขณะนั้นมี 2 ตัว โดยตัวหนึ่งมาก่อน คือ B.1.640 ซึ่งต่อมาเงียบหายไป และถัดมาก็เป็น B.1.1529 คือโอมิครอน ซึ่งมีการขยับชั้นเป็นสายพันธุ์น่าห่วงกังวล หรือ VOCs โดยองค์การอนามัยโลกภายในเวลาอันรวดเร็ว

 

นพ.ศุภกิจระบุต่อไปว่า ล่าสุดสายพันธุ์ B.1.640 มีการกลายพันธุ์ออกไปเป็นลูกหลาน คือ B.1.640.1 เป็นของเดิมที่เคยเกิดเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา และ B.1.640.2 ซึ่งอันหลังนี้เองที่เจอในฝรั่งเศสทางตอนใต้ ( และมีชื่อเรียกชั่วคราวว่า IHU) โดยไวรัส B.1.640 มีต้นทางมาจากประเทศคองโก ซึ่งเจอที่นั่นประมาณ 400 ราย

 

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า เชื้อสายพันธุ์นี้ (IHU) มีความแตกต่างทางพันธุกรรมกับสายพันธุ์ B.1.640 ซึ่งพบในคองโกในเดือนก.ย. 64 ในบางจุด เช่น มีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง E484K ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เชื้อดื้อต่อวัคซีนมากขึ้น ยังมีการกลายพันธุ์ N501Y ซึ่งพบในสายพันธุ์อัลฟา ที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าสามารถทำให้แพร่เชื้อได้มากขึ้น เป็นต้น

 

“น่าสนใจคือพบการกลายพันธุ์ของสไปก์โปรตีน (โปรตีนหนาม) ชนิด SNPs 14 ตำแหน่ง และการขาดหายไปอีก 9 ตำแหน่ง โดยเฉพาะบางคนบอกว่าพบ N501Y และ E484Q ซึ่ง 2 ตัวนี้อาจหลบวัคซีนได้ แต่ขอย้ำว่า ไม่ต้องตกใจ เพราะการพบกรณีดังกล่าวเจอได้หลายตัวทั้งในเบตา แกมมา หรือแม้กระทั่งโอมิครอน โดยในระบบการเฝ้าระวังของโลกมีการติดตาม และทำให้ทราบว่ามีการกลายพันธุ์ออกมา จึงต้องจับตากันต่อไป” นพ.ศุภกิจกล่าว

 

สำหรับไทย ทางสธ.เองก็เฝ้าระวังอยู่ว่า จะมีการพบสายพันธุ์ลักษณะนี้หรือไม่