สหรัฐเปิดเผย ตัวเลขเงินเฟ้อ สูงสุดในรอบเกือบ 40 ปีวานนี้ (12 ม.ค.) โดย กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 7.0% ในเดือนธ.ค.2564 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2525 เป็นต้นมา และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 6.8% ในเดือนพ.ย.
นอกจากนี้ ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.8% ในเดือนพ.ย.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน พุ่งขึ้น 5.5% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.4% จากระดับ 4.9% ในเดือนพ.ย.
นอกจากนี้ หากเทียบรายเดือนดัชนี CPI พื้นฐานของสหรัฐดีดตัวขึ้น 0.6% นับว่าสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% จากระดับ 0.5% ในเดือนพ.ย.
ก่อนหน้านี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธาน ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เปิดเผยว่า เฟดพร้อมดำเนินการทุกวิถีทางที่จะสกัดกั้นเงินเฟ้อ ซึ่งนั่นหมายรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้หากว่าจำเป็น (อ่านเพิ่มเติม: "พาวเวลล์" พร้อมใช้ทุกวิธีสกัดเงินเฟ้อ อาจขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดไว้)
ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ให้ความเห็นวานนี้ (12 ม.ค.) ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อจะยิ่งเพิ่มความอันตราย และตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างชาติที่พัฒนาแล้วและชาติที่กำลังพัฒนา
นอกจากนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐมักตามมาด้วยการไหลออกของกระแสเงินทุนจากประเทศกำลังพัฒนา
"ธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางแห่งอื่นๆ ต่างก็รู้ดีว่าจะจัดการกับเงินเฟ้ออย่างไร แต่สิ่งนี้จะต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่ และเพิ่มความเสี่ยงจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ" นางจอร์เจียวากล่าว