สำนักข่าวซีเอ็นบีซี สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานอ้างอิงบทวิเคราะห์ของนายเดวิด เมริเคิล นักเศรษฐศาสตร์ของวาณิชธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ ว่า อัตราเงินเฟ้อ ที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกดดันให้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งในปีนี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งกว่านั้น เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ
นายเมริเคิลยังกล่าวด้วยว่า เขาเห็นถึงความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดจะใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินซึ่งหมายถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทุกครั้งที่มีการประชุมกันในปีนี้ จนกว่าจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมนแซคส์ยังคาดหมายว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดขนาดงบดุลลงเดือนละ 100,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป
ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เชื่อว่าเฟดจะต้องนำมาตรการเชิงรุกมาใช้ซึ่งหมายถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้มากกว่าที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์เคยคาดการณ์กันไว้
ก่อนหน้านี้ โกลด์แมนแซคส์เองคาดการณ์ว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปี 2565 แต่เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกำลังทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจผลักดันให้เฟดจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย "เร็วขึ้น" เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
"เราคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ โดยจะปรับขึ้นในเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม แต่เราก็เห็นถึงความเป็นไปได้ที่เฟดจะคุมเข้มทางการเงินในการประชุมทุกครั้งของปีนี้ จนกว่าภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อจะเปลี่ยนแปลงไป" ทั้งนี้ การประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (Federal Open Market Committee หรือ FOMC) ครั้งแรกของปีนี้กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 25-26 ม.ค.
นักเศรษฐศาสตร์ของโกลด์แมน แซคส์ยังกล่าวด้วยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากขึ้น และยังทำให้เกิดภาวะไร้สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้จะยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
“เราเห็นถึงความเสี่ยงที่ FOMC จะหันใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดในการประชุมทุก ๆ ครั้งของปีนี้จนกว่าภาพรวมสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลง และนั่นเพิ่มโอกาสความเป็นไปได้ของการขึ้นดอกเบี้ย หรือการประกาศลดขนาดงบดุลเร็วขึ้นในเดือนพ.ค. และอาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งในปีนี้” นายเมริเคิลกล่าว
เดิมทีตลาดเองคาดหมายว่าเฟดจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ แต่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยอ้างอิงครั้งแรกของเฟดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่ขณะนี้กำลังพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดในรอบเกือบ ๆ 40 ปี ข้อมูลของ CME ชี้ว่า มีความเป็นไปได้เกือบ 95% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมี.ค. และมากกว่า 85% เชื่อว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้ แต่ต่อมาในขณะนี้ ตลาดเริ่มเห็นความเป็นไปได้มากขึ้น หรือเกือบ ๆ 60% ที่คาดว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยถึง 5 ครั้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยมากครั้งที่สุดของเฟด
ทั้งนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างมาก โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 7.0% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2525 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต พุ่งขึ้น 9.7% ในเดือนธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ที่มีการรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในเดือนพ.ย. 2553
เจ้าหน้าที่หลายคนของเฟดได้ออกมาสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมี.ค.เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งรวมถึงนางลาเอล เบรนาร์ด หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟดซึ่งกล่าวต่อคณะกรรมาธิการด้านการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ว่า "ดิฉันคิดว่าเฟดอยู่ในสถานะที่พร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันทีที่โครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ยุติลง"
ถ้อยแถลงของนางเบรนาร์ดถือเป็นการส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 15-16 มี.ค.นี้ เนื่องจากคณะกรรมการเฟดได้ประกาศไว้ก่อนหน้าว่าจะเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการ QE เป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนม.ค. 2565 โดยการปรับลดวงเงิน QE ของเฟดจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำ QE ในเดือนมี.ค. 2565
ข้อมูลอ้างอิง