FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 35% ที่ ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนมี.ค. นี้ จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 14%
นอกจากนี้ นักลงทุนยังปรับลดคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือนมี.ค. โดยให้น้ำหนัก 73% ลดลงจากเดิมที่ให้น้ำหนัก 86%
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด เคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาเชื่อว่าเฟดยังคงสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกมากโดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน
ทั้งนี้ นักลงทุนจับตาตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐในวันที่ 10 ก.พ. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าวจะแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี
กระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคประจำเดือนม.ค.ในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (10 ก.พ.)
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 7.2% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ.2525
ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 7.0% ในเดือนธ.ค.2564 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2525 จากระดับ 6.8% ในเดือนพ.ย.(2564)
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐยังเปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (4 ก.พ.) ว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 467,000 ตำแหน่งในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 150,000 ตำแหน่ง
ในส่วนของตัวเลขการจ้างงานเดือนพ.ย.2564 มีการปรับเป็นเพิ่มขึ้น 647,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 249,000 ตำแหน่ง และปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือนธ.ค.ปีเดียวกัน โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 510,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานว่าเพิ่มขึ้น 199,000 ตำแหน่ง
ทางด้านแบงก์ ออฟ อเมริกาออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 7 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าจะปรับขึ้นครั้งละ 0.25%
ทั้งนี้ หากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่แบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ นั่นหมายความว่า เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมทั้ง 7 ครั้งที่เหลือในปีนี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นไป