สเปชดอทคอม (space.com) รายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.พ. เวลา 1:13 น. ตามเวลาประเทศไทย จรวดฟัลคอม 9 ซึ่งเป็นยานขนส่งทางอวกาศของ บริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX Falcon 9) ทำภารกิจปล่อย ดาวเทียมสตาร์ลิงค์ (Starlink) ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารจำนวน 49 ดวงเข้าสู่วงโคจร แต่ทั้งหมดเผชิญกับ พายุแม่เหล็กโลก (geomagnetic storm) ทำให้เกิดแรงเสียดทานในชั้นบรรยากาศสูงขึ้นกว่าปกติ
กระทั่งต่อมาในวันที่ 8 ก.พ. สเปซเอ็กซ์ เปิดเผยว่า มีดาวเทียมสตาร์ลิงค์มากถึง 40 ดวงตกกลับเข้าชั้นบรรยากาศของโลก และมีการเผาไหม้ไปทั้งหมดแล้ว โดยอธิบายว่า ในการปล่อยดาวเทียมทุกครั้งจะอยู่ในระดับความสูงที่ต่ำกว่าวงโคจรที่กำหนดไว้ เพราะหากดาวเทียมเกิดปัญหาขัดข้องก็จะตกกลับมาในชั้นบรรยากาศโลกและเกิดการเผาไหม้ ไม่ทำให้เกิดเป็นขยะอวกาศ
สำหรับการปล่อยดาวเทียมสตาร์ลิงค์เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น ภายใต้ชื่อว่า "ภารกิจสตาร์ลิงค์ 4-7" ( Starlink 4-7) เป็นภารกิจส่งดาวเทียมครั้งที่ 3 ของบริษัทในปีนี้ เพื่อส่งดาวเทียมสื่อสาร 49 ดวงเข้าสมทบกับดาวเทียมสื่อสารสตาร์ลิงค์อีก 1,800 ดวงที่อยู่ในวงโคจร ต่อเนื่องจากเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ที่มีภารกิจปล่อยดาวเทียมสำรวจของอิตาลี และในวันที่ 2 ก.พ. เป็นการปล่อยดาวเทียมของสหรัฐอเมริกา
ข่าวระบุว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา สเปซเอ็กซ์มีการปล่อยกลุ่มดาวเทียมสตาร์ลิงค์เป็นระยะ บางครั้งอาจจะมีจำนวนมากถึง 60 ดวง เพื่อสร้างกลุ่มดาวเทียมขนาดใหญ่ในวงโคจรเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ลูกค้าทุกที่บนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ด้อยโอกาส
อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ สเปซเอ็กซ์จึงมีการทำงานเพื่อจำกัดการมองเห็นดาวเทียมสตาร์ลิงค์เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนดาราศาสตร์
สำหรับ “พายุแม่เหล็กโลก” (geomagnetic storm) หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “พายุสุริยะ” นี้ เป็นกลไกเดียวกับที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือ องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐกล่าวว่า พายุแม่เหล็กโลกเกิดขึ้นเมื่อลมสุริยะรุนแรงใกล้โลกมีปฏิสัมพันธ์กับสนามแม่เหล็กโลกและก่อให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางของพลาสมาและลมสุริยะอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้บรรยากาศชั้นบนของโลกอุ่นขึ้น และเพิ่มความหนาแน่นของชั้นบรรยากาศในระดับสูงพอที่จะส่งผลกระทบต่อดาวเทียมในวงโคจรต่ำ เช่นของสตาร์ลิงค์