วิกฤตยูเครนเดือด รัสเซียสั่งขับนักการทูตสหรัฐ

18 ก.พ. 2565 | 00:48 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.พ. 2565 | 07:59 น.

ความสัมพันธ์การทูต 2 ชาติมหาอำนาจ “สหรัฐ-รัสเซีย” ตึงเครียดหนัก หลังรัสเซียสั่งขับนักการทูตสหรัฐ "บลิงเคน" ฟ้องยูเอ็น รัสเซียกำลังใช้เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองกำลังยูเครนและกลุ่มกบฎฝักใฝ่รัสเซียในภูมิภาคดอนบาส เป็นข้ออ้างในการโจมตียูเครน

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงวานนี้ (17 ก.พ.) ว่า รัฐบาลรัสเซีย ได้สั่งขับนายบาร์เทิล กอร์แมน ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตสหรัฐ ออกจากประเทศ  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งทำให้ ความตึงเครียดทางการทูตระหว่างสหรัฐและรัสเซีย เกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลที่ว่ารัสเซียใกล้เปิดฉากทำสงครามกับยูเครน

 

นางแครีน ฌอง-ปิแอร์ รองโฆษกทำเนียบขาว กล่าวว่า การที่รัสเซียสั่งขับนายกอร์แมนออกนอกประเทศ ถือเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล "การกระทำของรัฐบาลรัสเซียต่อผู้ช่วยเอกอัครราชทูตของเรา ซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญของเจ้าหน้าที่ในสถานทูต ถือเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล และเกิดขึ้นในช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศของเราจะต้องมีเจ้าหน้าที่ทางการทูตที่จะทำการสื่อสารระหว่างรัฐบาลสหรัฐและรัสเซีย"

 

ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดนกล่าวยืนยันว่า เขาไม่มีแผนจะสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ในยูเครน แม้มีความกังวลว่ารัสเซียอาจทำการโจมตียูเครนในไม่ช้า เขายังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีความเสี่ยงสูงมากที่รัสเซียจะทำการโจมตียูเครน และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในอีกเพียงไม่กี่วัน

"รัสเซียยังคงส่งกำลังทหารประชิดชายแดนยูเครน และเรามีเหตุผลที่จะเชื่อว่าพวกเขากำลังจัดฉากเพื่อหาเหตุโจมตียูเครน" ปธน.ไบเดนกล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาว

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ

อย่างไรก็ดี ปธน.ไบเดนกล่าวว่า ขณะนี้ยังคงมีช่องทางการทูตที่จะผ่อนคลายวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้เปิดเผยแนวทางดังกล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) วานนี้ (17 ก.พ.) ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ควรประกาศอย่างชัดเจนต่อชาวโลกว่า รัสเซียจะไม่ทำการโจมตียูเครน

 

นอกจากนี้ นายบลิงเกนยังกล่าวต่อ UNSC ว่า รัสเซียเตรียมการโจมตียูเครน โดยจะมีการใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง "รัสเซียจะไม่โจมตียูเครนด้วยอาวุธธรรมดา และการโจมตีจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้" โดยเขาระบุว่า รัสเซียได้ตรึงกำลังทหารกว่า 150,000 นายตามแนวชายแดนยูเครน รวมทั้งมีกำลังทหารในเบลารุส และคาบสมุทรไครเมียที่พร้อมโจมตีในอีกไม่กี่วัน

“รัสเซียมีแผนจะสร้างสถานการณ์เพื่อเป็นข้ออ้างในการโจมตียูเครน สิ่งนี้อาจจะเป็นการวางระเบิดก่อการร้ายในรัสเซีย หรือการสร้างเรื่องค้นพบหลุมศพจำนวนมาก หรือมีการใช้โดรนโจมตีพลเรือน รวมทั้งการใช้อาวุธเคมี" นายบลิงเกนกล่าว

 

ทางด้านนางลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรสหรัฐประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า มีหลักฐานว่า รัสเซียกำลังใกล้โจมตียูเครน “นี่เป็นช่วงเวลาสำคัญมาก และนี่เป็นเหตุผลที่ท่านรัฐมนตรีบลิงเกนได้เดินทางมายังนิวยอร์กเพื่อยืนยันถึงการใช้แนวทางการทูตของเราเพื่อผ่อนคลายวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และบอกให้โลกรับรู้ว่าเราจะทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันสงคราม" นางโทมัส-กรีนฟิลด์กล่าว

 

ทั้งนี้ ความตึงเครียดในวิกฤตการณ์ยูเครนได้ทวีมากขึ้น ขณะที่มีความกังวลว่ารัสเซียกำลังใช้เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกองกำลังยูเครนและกลุ่มกบฎฝักใฝ่รัสเซียในภูมิภาคดอนบาส เป็นข้ออ้างในการโจมตียูเครน

นายดมิทรี เพสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า รัสเซียมีความกังวลและกำลังจับตาสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภูมิภาคดอนบาส หลังจากมีรายงานการปะทะกันระหว่างกองกำลังยูเครนและกลุ่มกบฎฝักใฝ่รัสเซียในภูมิภาคดังกล่าว

 

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว RIA ของทางการรัสเซียรายงานว่า กองทัพยูเครนได้โจมตีกลุ่มกบฏในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งถือเป็นเขตหยุดยิงตามข้อตกลงมินสก์

 

อย่างไรก็ตาม กองทัพยูเครนได้ปฏิเสธข่าวดังกล่าวแล้ว ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศยูเครนแถลงว่า กลุ่มกบฎฝักใฝ่รัสเซียในดอนบาสได้โจมตีหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางตะวันออกของยูเครน ซึ่งได้สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนของประชาชน

 

"เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายประณามการที่รัสเซียละเมิดข้อตกลงมินสก์ ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีความตึงเครียดในขณะนี้" แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศยูเครนระบุ

 

ทางด้านสหรัฐระบุเตือนว่า รัสเซียกำลังหาเหตุและจัดฉากเพื่อสร้างเงื่อนไขในการโจมตียูเครนได้ทุกขณะ

รัสเซียยังคงกำลังพลกว่าแสนนายประชิดบริเวณชายแดนยูเครน

เงื่อนไขใหม่ - ระเบิดเวลาลูกใหม่

ทั้งนี้ สภาดูมา ซึ่งเป็นสภาผู้แทนราษฎรรัสเซีย ได้ให้การอนุมัติก่อนหน้านี้ต่อร่างกฎหมายรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน และประชาชนส่วนใหญ่ฝักใฝ่รัสเซีย

 

นายยาเชสลาฟ โวโลดิน ประธานสภาดูมา กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกส่งต่อไปยังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินโดยทันทีเพื่อลงนามเป็นกฎหมาย ซึ่งจะเป็นการรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระและมีอธิปไตยของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์

 

"ยูเครนไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงมินสก์ ขณะที่ประชาชนของเราที่อยู่ในดอนบาสจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ และปกป้องจากภัยคุกคามจากภายนอก รวมทั้งจะเป็นการสร้างเสถียรภาพในภูมิภาค" นายโวโลดินกล่าว

 

อย่างไรก็ดี หากปธน.ปูตินให้การรับรองกฎหมายดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ก็จะเป็นการสร้างความขัดแย้งครั้งใหม่ต่อวิกฤตการณ์ในยูเครน เนื่องจากการรับรองสถานะการเป็นรัฐอิสระของสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์-ลูฮันสก์ จะถือเป็นการฉีกข้อตกลงมินสก์ ซึ่งมีเป้าหมายในการยุติสงครามแบ่งแยกดินแดนในดอนบาส หลังจากที่ได้คร่าชีวิตของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนและกองกำลังยูเครนถึง 15,000 คน