นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala วันนี้ (27 มี.ค.) เรื่อง “เฝ้าระวังมหาวิกฤตเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นบทความชิ้นที่ 36 มีรายละเอียดน่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ติดตาม วิกฤตยูเครน และ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ที่เห็นชัดเจนมากขึ้นทุกที
“เฝ้าระวังมหาวิกฤตเศรษฐกิจ” บทความที่ 36
ใน สงครามยูเครน ระเบิดที่ทำลายล้างรุนแรงจริงๆ คือ ระเบิดนิวเคลียร์เศรษฐกิจ ที่สหรัฐยิงใส่รัสเซีย อาจจะเพื่อปรามจีนด้วย
ประเทศที่กระทบหนักสุดคือรัสเซีย แต่จะเดือดร้อนระส่ำระสายในประเทศกำลังพัฒนาที่หิวโหย
ถึงแม้รัสเซียเป็นประเทศผลิตอาหาร แต่เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจากรูเบิลอ่อน ก็สร้างความเดือดร้อนแก่คนรัสเซีย
อาหารบางอย่างที่ต้องนำเข้าขาดแคลนทันที ใน รูป 1 คนต้องเข้าคิว 1.5 ชั่วโมงเพื่อซื้อน้ำตาล โดยบางร้านจำกัดปริมาณต่อรายด้วย
รูป 2 ล่าสุด เงินเฟ้อขึ้นไปถึงระดับ 14.5% ใน รูป 3 จะเห็นได้ว่า ช่วงปี 2014 ที่รัสเซียถูกแซงชั่นจากการยึดแหลมไครเมีย ก็ทำให้เงินเฟ้อขึ้นไปสูง
ธนาคารชาติใช้เวลาถึง 3 ปี จึงสามารถกดเงินเฟ้อลงมาที่ระดับเป้าหมาย 4% แต่สงครามยูเครนทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
รูป 4 นักวิเคราะห์ระบุว่า เงินเฟ้อปีนี้อาจจะขึ้นไปถึง 20% ซึ่งจะกระทบประชาชนอย่างหนักมาก เรียกได้ว่า สงครามมีต้นทุนสูงด้านวิถีชีวิต
ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้รูเบิลอ่อน ก็เพราะประเทศตะวันตกยึดทุนสำรองเอาไว้ (ไม่มีกฎสากลอนุญาต)
รัสเซียมีทุนสำรอง 6.3 แสนล้านดอลลาร์ ใน รูป 5 ข้อมูลปี 2021 เก็บ 23% ในรูปทองคำที่กรุงมอสโคว
แต่พลาดตรงที่เอา 45% ไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลตะวันตก ที่บัดนี้ถูกยึดเมื่อสองวันก่อน ปูตินแก้เกม จะให้ประเทศปรปักษ์ชำระค่าก๊าซด้วยเงินรูเบิล
ใน รูป 6 รัฐมนตรีเศรษฐกิจเยอรมันโต้ว่า ผิดสัญญาขายก๊าซ แต่ในข้อเท็จจริง จะไม่มีประเทศใดเสียเวลาไปฟ้องศาล
จะไม่มีประเทศใด ยอมให้ประชาชนขาดก๊าซหุงหาอาหาร ขาดความอบอุ่น หรือยอมให้อุตสาหกรรมหรือโรงพยาบาลต้องขาดไฟฟ้า
รูป 7 ไบเดนแถลงว่าสหรัฐจะขายก๊าซให้ยุโรป ในปี 2022 ปริมาณ 15 พันล้านลบ.ม.
ยุโรปใช้ก๊าซปีละ 450 พันล้านลบ.ม. โดยพึ่งพารัสเซียประมาณ 40% คือ 180 พันล้านลบ.ม. ดังนั้น จำนวนที่ไบเดนแถลง จึงแก้ขัดได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ ท่าเรือยุโรปที่มีระบบท่อ และมีถังเก็บอุณหภูมิติดลบ 160 เซลเซียส ก็มีจำกัด และใช้งานเต็มที่อยู่แล้ว
กว่าจะสร้างท่าเรือและถังเก็บใหม่ ต้องใช้เวลาอีก 5-6 ปี! อิตาลีประกาศจะใช้เรือบรรทุกก๊าซลอยลำ เพื่อจ่ายก๊าซเข้าระบบท่อ แต่ก็จะใช้เวลา 1-2 ปี
และก็ยังต้องสร้างโรงงานที่จะแปลงก๊าซ จากสภาพเหลวให้เป็นสภาพไออีกด้วย
ดังนั้น ทุกรายจะยอมจ่ายเป็นสกุลรูเบิล และเมื่อรูเบิลแข็งขึ้น เงินเฟ้อในรัสเซียจะชะลอลง
ถามว่า รัสเซียจะเอารูเบิลไปทำไม เพราะพิมพ์เองเท่าไหร่ก็ได้?
อันที่จริง รัสเซียไม่ได้ต้องการรูเบิล แต่รัสเซียต้องการทองคำ
คาดว่า กติกาใหม่จะกำหนดให้ผู้ซื้อก๊าซจะต้องขนส่งทองคำไปให้ธนาคารชาติรัสเซีย เพื่อขอแลกเป็นรูเบิล
โดยใน รูป 8 เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ธนาคารชาติประกาศอัตราแลกทองคำ 1 กรัมแลกได้ 5,000 รูเบิล มีผลระหว่างวันที่ 28 มี.ค. ถึง 30 มิ.ย.
เท่ากับตีราคาทองคำเพียงประมาณ 1,475 ดอลลาร์ คือกดราคาต่ำกว่าตลาดสากลประมาณ 25%
ถ้าหากรัสเซียใช้กติกานี้ ในการขายก๊าซ ก็เท่ากับว่า ยุโรปต้องซื้อก๊าซแพงขึ้น 25% (และราคาพื้นฐานอาจจะปรับสูงขึ้นอีกด้วยก็ได้)
แต่ถึงแม้เป็นทองคำ ก็ยังจะมีข้อยุ่งยากอยู่บ้าง
ใน รูป 9 สหรัฐเตรียมออกกฎหมาย จะห้ามบริษัทเอกชนสหรัฐและประเทศคู่ค่า เข้าไปรับซื้อทองคำรัสเซีย
พูดง่ายๆ ในเมื่อตะวันตกยึดทองคำไม่ได้ ก็ปิดประตูไม่ให้ขายในตลาดทองคำใหญ่ของโลก
แต่หมากนี้พอแก้ไขได้
ทางหนึ่ง คือรัสเซียทำรูเบิลให้เป็น gold backed (เหมือนสหรัฐทำกับดอลลาร์หลัง WW2) ซึ่งจะทำให้ประเทศคู่ค้าเชื่อถือ ซึ่งการกำหนด 5,000 รูเบิลเป็นการเริ่มต้น
โดยกรณีการค้าเกินดุล หรือขาดดุลระหว่างกัน ก็จะต้องมีค่าใช่จ่ายขนส่งทองคำให้กัน ไปๆ มาๆ
หรืออีกทางหนึ่ง คือรัสเซียอนุญาตให้ใช้เงินคริปโทในการค้าขายกับประเทศต่างๆ
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. สื่อตะวันตกแพร่ข่าวว่า รัสเซียใกล้จะยุติสงคราม และจะถอนตัว โดยจะตรึงไว้แค่ดอนบาส
แต่ผมวิเคราะห์ว่า ปูตินจะเข้ายึดกรุงเคียฟเพื่อล้มรัฐบาลซีเลนสกี้มากกว่า ซึ่งคำตอบจะชัดเจนในต้นเดือน เม.ย.
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ