โลกเร่งหาวัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่ รองรับเทรนด์ฮิต "ยานยนต์ไฟฟ้า"

19 พ.ค. 2565 | 04:13 น.
อัปเดตล่าสุด :19 พ.ค. 2565 | 11:39 น.

จากกระแสความนิยมใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทำให้คาดว่า ความต้องการแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะขยายตัวอย่างรวดเร็วในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หลายประเทศได้เร่งเพิ่มขีดความสามารถของตัวเองในการผลิตวัสดุที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รองรับรถยนต์ประเภทนี้

คาดการณ์ว่า แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน จะยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ในอนาคต วัสดุหลักอย่างหนึ่งที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ชนิดนี้คือ “ลิเธียม” ซึ่งเป็นสารโลหะเบา ส่วนวัสดุที่จำเป็นอื่นๆ ได้แก่ โคบอลต์ แมงกานีส และนิกเกิล

แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจะยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ดี ความต้องการ แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคาวัสดุที่กล่าวมา เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และคาดว่าความต้องการจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปทั่วโลกเนื่องจากบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ยังคงขยายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอยู่เรื่อย ๆ

 

ปัจจุบัน จีนยังคงเป็นผู้นำโลกในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า รายงานของ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency) ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา (2564) รถยนต์ 3.4 ล้านคันที่จำหน่ายในประเทศจีนล้วนเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ยุโรปเป็นตลาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 2.3 ล้านคัน รายงานระบุด้วยว่ามียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจำนวน 6.6 ล้านคันในปี 2564

จุดประจุไฟฟ้ารถอีวีพบเห็นได้ทั่วไปในประเทศจีน

จีนยึดครองเทรนด์รถไฟฟ้า

นอกจากการเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ขณะนี้ จีนยังเป็นศูนย์รวมของบรรดาบริษัทผู้ผลิตวัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าด้วย

 

ยกตัวอย่าง แร่โคบอลต์ หนึ่งในวัสดุสำคัญที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เป็นที่ทราบกันดีว่า แหล่งแร่โคบอลต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งเมื่อตรวจสอบดูก็จะพบว่า หลาย ๆ บริษัทของจีนได้เข้าไปบุกเบิกจนกลายเป็นผู้ควบคุมการทำเหมืองโคบอลต์ส่วนใหญ่ในคองโกแล้วด้วย

 

วัสดุที่จำเป็นอีกอย่างหนึ่งสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ก็คือ ลิเธียม ที่พบได้ในหลาย ๆ พื้นที่ของโลก ลิเธียมเป็นวัสดุที่มีราคาแพงและหาได้ยาก ออสเตรเลียเป็นผู้ผลิตลิเธียมรายใหญ่ที่สุดของโลก ส่วนซัพพลายเออร์รายใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ จีน อาร์เจนตินา และชิลี นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้ควบคุมห่วงโซ่อุปทานลิเธียมเป็นส่วนใหญ่อีกด้วย

 

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความต้องการลิเธียมทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 317,500 เมตริกตันในปี 2563 แต่มีตัวเลขคาดการณ์ว่า ความต้องการนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 6 เท่าภายในปี 2573 ราคาของลิเธียมคาร์บอเนตแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่ผ่านมา (2564) ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความต้องการที่แข็งแกร่งจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ในจีนนั่นเอง

เว็บไซต์ Investing News รายงานว่า ผู้จัดหานิกเกิลรายใหญ่ที่สุดของโลกคือ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งผลิตโลหะนี้ได้ประมาณ 1 ล้านเมตริกตันในปี 2564 ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ที่มีการทำเหมืองนิกเกิลขนาดใหญ่เช่นกัน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา และ บราซิล

 

รอยเตอร์รายงานด้วยว่า นิกเกิลส่วนใหญ่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะมาจากการทำเหมืองในอินโดนีเซีย และก็เช่นเดียวกันกับแร่ธาตุอื่น ๆที่สำคัญ คือ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บริษัทเหมืองขนาดใหญ่ของจีนหลายรายได้พากันประกาศการลงทุนครั้งใหญ่ในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมนิกเกิลของชาวอินโดนีเซีย

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย (ขวาสุด) เชิญชวนนายอีลอน มัสก์ (ซ้าย) ไปลงทุนแบตเตอรี่รถยนต์อีวีในอินโดฯ

(อ่านเพิ่มเติม: “วิโดโด” พบ “อีลอน มัสก์” ดึงลงทุนผลิตแบตฯรถ EV ในอินโดฯ)

 

เจ้าหน้าที่ในสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ยอมรับว่า กำลังพยายามทำเหมืองและแปรรูปวัสดุภายในประเทศให้มากขึ้นเพื่อใช้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ การพึ่งพาอุปทานจากประเทศอื่น ๆ ให้น้อยลง อาจช่วยให้ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้หลีกเลี่ยงปัญหาในเรื่องราคาและการจัดหาทรัพยากรจากนอกประเทศได้

 

ในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ประกาศโครงการความช่วยเหลือจากรัฐบาลกลาง เพื่อช่วยให้บริษัทต่าง ๆ สามารถทำเหมืองและแปรรูปลิเธียมรวมทั้งโลหะหายากอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศจีน

 

ปัจจุบัน มีเหมืองลิเธียมเพียงแห่งเดียวในสหรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของรัฐเนวาดา แต่กำลังมีการพัฒนาโครงการทำเหมืองลิเธียมเพิ่มขึ้นอีกในรัฐเนวาดา, เมน , นอร์ธ แคโรไลนา และแคลิฟอร์เนีย

 

ขณะเดียวกันที่ประเทศอังกฤษ บริษัทคอร์นิช ลิเธียม (Cornish Lithium) วางแผนที่จะเริ่มดำเนินการทำเหมืองด้วยความร้อนใต้พิภพทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

ด้านประเทศเยอรมนี บริษัท วัลแคน อิเนอร์จี รีซอร์สเซส (Vulcan Energy Resources) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างเยอรมนี-ออสเตรเลีย ได้ประกาศแผนตั้งแต่ปีที่แล้ว (2564) ว่าจะทำโครงการรวบรวมลิเธียมโดยใช้ความร้อนใต้พิภพจากพื้นที่ในเขตป่าดำ (Black Forest) ของประเทศเยอรมนี นักวิทยาศาสตร์เคยประเมินว่าพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนีนี้ สามารถผลิตลิเธียมได้มากพอที่จะผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้มากถึง 400 ล้านคันเลยทีเดียว