จีนยืนหนึ่ง ไทยเบอร์ 8 ผลิตแร่หายากโลก แดนมังกรผลิตเต็มสูบ หลังยอดพุ่ง 200%

13 เม.ย. 2565 | 09:48 น.
อัปเดตล่าสุด :13 เม.ย. 2565 | 17:04 น.

อุตสาหกรรมแร่หายากจีนยอดขายพุ่ง 200% หลังความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตทั้งสมาร์ทโฟน รถอีวี แบตเตอรี่ ชิ้นส่วนรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ขยายตัวสูง โรงงานในจีนเดินหน้าผลิตเต็มกำลัง รั้งเบอร์ 1 โลกผลิตแร่แรร์เอิร์ธมากสุด ไทยติดอันดับ 8 โอกาสส่งออกสดใส

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต. / ทูตพาณิชย์)  ณ เมืองเซี่ยเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน รายงานอ้างอิงข้อมูลสื่อของจีนว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2564 ที่ผ่านมา ราคาตลาดของผลิตภัณฑ์แร่แรร์เอิร์ธในประเทศจีนยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

สำนักงานกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแร่แรร์เอิร์ธจึงได้เจรจากับองค์กรรัฐวิสาหกิจสำคัญต่างๆ ในจีนได้แก่ China Rare Earth Group และ Northern Rare Earth Group เป็นต้น วัตถุประสงค์เพื่อต้องการรักษาห่วงโซ่อุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมให้มีความปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืน และนำราคากลับสู่ความสมดุลในตลาด

 

เครดิตภาพ : CCTV-2

 

สำหรับแร่แรร์เอิร์ธ คือ แร่หายาก มีกลุ่มธาตุโลหะ 17 ชนิด ซึ่งเป็นแร่หายากที่จีนเป็นผู้นำตลาดมายาวนาน มักจะใช้เป็นส่วนประกอบในกระจก แม่เหล็ก แบตเตอรี่ เซรามิกส์และสารเรืองแสง รวมถึงใช้ในวงการแพทย์ วงการทหาร เป็นต้น ปัจจุบันประเทศจีนมีความต้องการใช้แร่แรร์เอิร์ธผลิตแม่เหล็กถาวร (Permanent Magnet) มากที่สุด ซึ่งแม่เหล็ก Neodymium Iron Boron (NdFeB) เป็นแม่เหล็กกลุ่มแร่แรร์เอิร์ธที่มีการนำมาใช้อย่างกว้างขวาง

 

แม้ว่าแร่แรร์เอิร์ธมองดูแล้วมีลักษณะไม่ต่างกันมาก แต่ปริมาณสัดส่วนและประสิทธิภาพของธาตุมีความ แตกต่างกัน เช่นบางตัวถูกนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ยานยนต์อย่างชิ้นส่วนมอเตอร์ในรถไฟฟ้า หรือนำไปใช้ใน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์ หูฟัง และแท่นชาร์จไร้สาย เป็นต้น

 

องค์กรรัฐวิสาหกิจแร่แรร์เอิร์ธหลายเจ้าในเจียงซี เผยว่า จากความต้องการผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้แร่แรร์เอิร์ธสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องเดินสายการผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด

 

 

 Lou Zhanhuang ประธานบริษัท Guangxi Guosheng Rare Earth New Material Co., Ltd. กล่าวว่า กำลังการผลิต ของทางบริษัทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 30-35 โดยเฉพาะอิตเทรียมออกไซด์ที่ใช้ในการผลิตใบพัดกังหันลมใน อุตสาหกรรมพลังงานลมที่มียอดขายเพิ่มสูงถึงร้อยละ 200 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

นอกจากนี้ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ “แม่เหล็กถาวรแรร์เอิร์ธ (Permanent Magnet)” ที่มีลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ใน เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำจูเจียง (ประกอบด้วยเมืองกวางโจว เซินเจิ้น ฮ่องกง มาเก๊า จูไห่ ฝอซาน ตงกว่าน จงซาน เจียงเหมิน ฮุ่ยโจวและจ้าวชิ่ง) มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งความต้องการกว่า  90%  เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนมอเตอร์และชิ้นส่วนในเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

รวมถึงโรงงานผลิตทั้งในกว่างซี และเมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ามีคำสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้น โรงงานต้องเปิดทำงานตลอดวัน ตลอดคืน กำลังการผลิตอยู่ที่ 5-8 ตันต่อวัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

 

 Lou Yonggang หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ วัตถุดิบใหม่ (new metal materials) ของบริษัท CINDA SECURITIES CO., LTD. กล่าวว่าแม่เหล็กถาวร (Permanent Magnet) จะกลายเป็นที่ต้องการหลักของ อุตสาหกรรมแร่แรร์เอิร์ธและคาดว่ากำลังการผลิตแม่เหล็กถาวรแรร์เอิร์ธ (Permanent Magnet) ภายในปี 2564 จะมีกำลังการผลิตในประเทศถึง 320,000 ตัน

 

สคต. ณ  เมืองเซี่ยเหมิน ให้ความเห็นว่า แร่แรร์เอิร์ธหรือแร่หายากมีความสำคัญในการใช้ผลิตสินค้าในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งเพื่อการบริโภค การอุตสาหกรรมการทหาร การผลิตสมาร์ทโฟน เครื่องมือการสื่อสาร การผลิตแบตเตอรี่ รวมถึงเครื่องบินขับไล่ รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) และชิ้นส่วนอากาศยาน

 

ถึงแม้ว่าจาก อมูลอ้างอิงจาก Investing News (สำรวจ ณ ปี 2563) ระบุว่าประเทศจีนเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก โดยผลิตได้มากถึง 140,000 เมตริกตัน แต่ถึงอย่างนั้นจีนก็เป็นประเทศที่ส่งออกแร่แรร์เอิร์ธมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก เช่นกัน และคาดว่าจะส่งออกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจีนเป็นเจ้าครองตลาดแร่แรร์เอิร์ธทำให้เกิดการผูกขาด และใช้เป็นอำนาจในการต่อรองกับโรงงานผลิตในประเทศอื่นทั่วโลก

 

ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่ต้องใช้แร่แรร์เอิร์ธทั้งในจีนและต่างประเทศ ทำให้ผลิตภัณฑ์แร่แรร์เอิร์ธเป็นที่ต้องการสูงในตลาด สนับสนุนด้วยนโยบายของประเทศต่าง ๆ ที่กำลังมุ่งประเด็นในเรื่องพลังงานสีเขียว การขยายตัวอย่างรวดเร็วของ การใช้พลังงานไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้แเบตเตอรรี่มหาศาลทั่วทั้งโลก

 

เครดิตภาพ : CCTV-2

 

ดังนั้น แนวโน้มการใช้แร่แรร์เอิร์ธน่าจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการถลุงแร่แรร์เอิร์ธยังคงทำลายสิ่งแวดล้อม และทำให้เกิดมลพิษสูง จีนจึงมีการวิจัยและพัฒนาโดยสามารถใช้ขยะอุตสาหกรรมมาผลิตเป็นแร่แรร์เอิร์ธ

 

ข้อมูลจาก Investing News ระบุว่า 10 ประเทศที่ผลิตแรร์เอิร์ธมากที่สุดในโลก (สำรวจ ณ ปี 2563) มี ดังนี้ 1. จีน 140,000 เมตริกตัน 2. สหรัฐอเมริกา 38,000 เมตริกตัน 3. เมียนมา 3,000 เมตริกตัน 4. ออสเตรเลีย 20,000 เมตริกตัน 5. มาดากัสการ์8,000 เมตริกตัน 6. อินเดีย 3,000 เมตริกตัน 7. รัสเซีย 2,700 เมตริกตัน 8. ไทย 2,000 เมตริกตัน 9. เวียดนาม 1,000 เมตริกตัน 10. บราซิล 1,000 เมตริกตัน  ซึ่งไทยมีโอกาสเป็นผู้ส่งออกแร่แรร์ เอิร์ธเพื่อป้อนตลาดตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มมากขึ้นด้วย