กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/65 วานนี้(26 พ.ค.) โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐ หดตัว -1.5% ซึ่งมากกว่าเดิมที่รายงานว่าหดตัว -1.4% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และยังมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาสแรกหดตัวเพียง -1.3%
ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐหดตัวในไตรมาสแรก (1/65) ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เศรษฐกิจเผชิญภาวะถดถอยโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563
เมื่อพิจารณาใน ปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐเติบโต 6.3% ในไตรมาส 1 และ 6.7% ในไตรมาส 2 ก่อนที่จะชะลอตัวสู่ 2.3% ในไตรมาส 3 เนื่องจากการขาดแคลนวัตถุดิบในภาคการผลิต ซึ่งกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและการใช้จ่ายของผู้บริโภค แต่เศรษฐกิจสหรัฐกลับมามีการขยายตัว 6.9% ในไตรมาส 4
และเมื่อพิจารณาทั้งปี 2564 เศรษฐกิจสหรัฐยังมีการขยายตัว 5.7% ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2527 หลังจากที่หดตัว -3.4% ในปี 2563 ซึ่งเป็นการหดตัวรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2489 โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ (25 พ.ค.) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่งเปิดเผยรายงานการประชุมประจำวันที่ 3-4 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยเนื้อหารายงานระบุว่า กรรมการเฟดมีความพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย.และเดือนก.ค. นี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่เกิดจากเงินเฟ้อ หลังจากที่ในเดือน พ.ค.เฟดเพิ่งมีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 0.75-1.00% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2543 และเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบกว่า 20 ปี โดยกรรมการเฟดมีความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ว่า “เศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากพอ” ที่จะเปิดทางให้เฟดสามารถใช้นโยบายการเงินเพื่อควบคุมเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภาสหรัฐเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมาว่า เฟดพร้อมใช้ทุกวิธีทางสกัดกั้นเงินเฟ้อ แม้จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่ขณะนี้มีความแข็งแกร่งมากขึ้นหลังต้องเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ นิยามของ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย นั้นหมายถึงกรณีที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งหดตัวหรือติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน
นักลงทุนคาดการณ์ว่า การที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยเศรษฐกิจหดตัวลงมากกว่าคาดในไตรมาสแรก อาจจะช่วยชะลอการตัดสินใจเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดก็เป็นได้ เนื่องจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยในขณะนี้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย