ประเทศลาว ที่มี โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จำนวนมากทำให้มีความจำเป็นต้องใช้เงินกู้จำนวนมหาศาล ราวกึ่งหนึ่งของหนี้ก้อนใหญ่ดังกล่าวข้างต้นเป็น หนี้เงินกู้จากจีน ที่ลาวนำมาใช้เดินหน้าโครงการต่าง ๆจำนวนมาก ซึ่งรวมถึง โครงการรถไฟข้ามพรมแดนระหว่างจีนและลาว ที่เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่เดือนธ.ค.2564
ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินระบุว่า สถานการณ์แบกภาระหนี้สินดังกล่าวทำให้ลาวตกอยู่ในความสุ่มเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกกลายมาเป็นปัจจัยซ้ำเติม ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือผลกระทบจากสงครามในยูเครน
ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา (14 มิ.ย.) มูดี้ส์ (Moody’s) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของประเทศลาวมาอยู่ที่ระดับ Caa3 ซึ่งหมายถึง “มีภาระหนี้ที่สูงมาก และมีเงินสำรองสกุลเงินต่างประเทศไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ต่างประเทศที่กำลังจะครบกำหนดชำระ มูดี้ส์เตือนว่า ลาวมีความเสี่ยง “ระดับสูง” ในการผิดนัดชำระหนี้
สำนักข่าววีโอเอ สื่อใหญ่ของสหรัฐรายงานอ้างอิงรายงานฉบับหนึ่งของ ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่เผยแพร่ในเดือนเม.ย. มีการประเมินเบื้องต้นว่า ในปีที่ผ่านมา (2564) หนี้สาธารณะและหนี้ที่ภาครัฐค้ำประกันของลาว ได้ขยับสูงขึ้นแตะระดับ 88% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยหนี้ดังกล่าวมีมูลค่า 14,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 514,750 ล้านบาท ในจำนวนนี้ราวครึ่งหนึ่งเป็นหนี้เงินกู้จากจีน เพื่อนำมาใช้ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายในประเทศลาว ซึ่งรวมถึงโครงการรถไฟจีน-ลาว ดังกล่าวข้างต้น
นายเกรก เรย์มอนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ให้ความเห็นกับวีโอเอภาคภาษาจีนว่า วิกฤตที่รัฐบาลเวียงจันทน์กำลังเผชิญอยู่ มีความเป็นมาที่ทับซ้อนกันอยู่หลายชั้น สิ่งที่เป็นเหตุผลระยะสั้นคือราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากสงครามยูเครน รวมทั้งการขึ้นดอกเบี้ยในสหรัฐ ซึ่งมีผลทำให้ค่าเงินกีบ ซึ่งเป็นสกุลเงินของลาว ดำดิ่งลง
“แต่เหตุผลในชั้นที่ลึกกว่านั้นคือการที่ลาวตัดสินใจสร้างหนี้มูลค่ามหาศาลเพื่อเดินหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในประเทศ ” เรย์มอนด์ระบุ
ข้อมูลจากสำนักข่าวซินหัวซึ่งอ้างอิงเจ้าหน้าที่รัฐบาลลาว เผยว่า จีนยังคงเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในลาว (ข้อมูล ณ ปี 2564) มีการลงทุนใน 813 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวมกันมากกว่า 16,000 ล้านดอลลาร์
การได้รับเงินกู้ก้อนมหึมาจากประเทศจีนเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกระทั่งต่อมาได้กลายเป็นหนี้มูลค่ามหาศาล หรือที่เรียกว่า “กับดักหนี้” ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลาวเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนารายอื่น ๆ เช่นกัน รวมทั้งศรีลังกา
ข่าวระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2556 รัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณมากกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" (Belt and Road Initiative) โดยถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้จีนขายสินค้าได้มากขึ้น และขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างโอกาสให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างของจีนสามารถได้ทำสัญญาจ้างงานหรือสัญญาสัมปทานในต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการคานอำนาจของสหรัฐอเมริกาด้วย
อย่างไรก็ตาม สหรัฐและประเทศอื่น ๆ กล่าวหาว่า จีนกำลังดำเนิน “การทูตกับดักหนี้” (debt-trap diplomacy) ซึ่งหมายถึงการทำให้ประเทศที่มีความอ่อนแอด้านเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากประเทศจีน แต่แน่นอนว่า นักการทูตจีนได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกในนามกลุ่ม G7 ได้ให้คำมั่นว่า จะระดมทุนมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อที่จะนำมาสนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อตอบกลับความพยายามของจีนในลักษณะเดียวกัน
สถาบันวิจัย AidData Lab (เอดเดตา แล็บ) จากมหาวิทยาลัย College of William & Mary ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับหนี้ที่เกิดจากโครงการ "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" ของจีน ระบุว่า ตามสถิติการวิจัยพบว่า หนี้สาธารณะของลาวที่มีกับจีน มูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 12,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่ธนาคารโลกได้คำนวณไว้เป็นอย่างมาก เนื่องจากทางสถาบันได้ใช้แหล่งข้อมูลและวิธีจัดการข้อมูลที่แตกต่างไปจากธนาคารโลก
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดในการประเมิน GDP มูลค่าหนี้ที่ลาวมีพันธะผูกพันกับจีนนั้น ได้ทำให้ตัวเลขรายได้ต่อหัวของชาวลาวที่ประมาณ 2,600 ดอลลาร์ หรือราว 93,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่ประชากรหนึ่งคนสามารถสร้างมูลค่า GDP ขึ้นมาได้ กลายเป็นตัวเลขน้อยนิด และทำให้ประเทศลาวที่มีประชากร 7 ล้านคน กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก
นายแบรดลีย์ พาร์คส ผู้อำนวยการบริหารของ AidData กล่าวว่า ในช่วง 18 ปีที่ผ่านมารัฐบาลลาวทำสัญญาหรือค้ำประกันเงินกู้จากจีนมูลค่า 5,570 ล้านดอลลาร์ และชี้ว่ายังมียอดเพิ่มเติมอีก 6,690 ล้านดอลลาร์
ตามข้อมูลของธนาคารโลก ลาวต้องชำระหนี้ต่างประเทศ มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ต่อเนื่องทุกปี ไปจนถึงปี พ.ศ. 2568 ซึ่งมูลค่าดังกล่าว เกือบเท่ากับปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของลาว และคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ภายในประเทศทั้งหมด ธนาคารโลกคาดหมายว่า ในปี 2565 นี้ เศรษฐกิจของลาวจะเติบโตในอัตรา 3.8% แต่ก็เตือนว่าตัวเลขการเติบโตดังกล่าว จะยังไม่เพียงพอที่จะสร้างรายได้ให้รัฐบาลนำไปใช้ในการชำระหนี้ต่างประเทศ
ในการประชุมสภาแห่งชาติลาว เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายบุญชม อุบลประเสริฐ รัฐมนตรีคลังของลาว เปิดเผยว่า ลาวต้องชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากระดับ 1,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 เป็น 1,400 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ เขากล่าวต่อสภา โดยยืนยันว่า จะไม่ยอมให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ ทั้งนี้ ได้วางแผนปฏิรูประบบจัดเก็บภาษี และเพิ่มรายได้ให้กับรัฐจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น การทำเหมืองแร่ รวมทั้งจำกัดการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของประชาชนทั่วไป
นายบุญชมย้ำว่า การกู้เงินของลาวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ ยกตัวอย่างโครงการรถไฟจีน-ลาว ที่เชื่อมต่อระหว่างเมืองคุนหมิง ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน กับกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว ซึ่งเปิดให้บริการในเดือนธ.ค. 2564 โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุน 5,900 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้จากจีน
ทางการลาวคาดหวังว่า รถไฟเส้นทางดังกล่าวจะลดต้นทุนการขนส่ง กระตุ้นการส่งออก และสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว โครงการนี้ลาวกู้ยืมจากจีนทั้งสิ้น 1,900 ล้านดอลลาร์ เป็นโครงการที่ดำเนินการบริษัทรถไฟลาว-จีน หรือ Laos-China Railway Company ซึ่งฝ่ายจีนถือหุ้น 70% โดยบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน 3 ราย นอกนั้น 30% ถือโดยรัฐบาลลาว
ตามรายงานของ AidData Lab ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา (2564) ธนาคารประชาชนจีน หรือ People's Bank of China ได้ออกเงินกู้ฉุกเฉินมูลค่าประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ ให้กับธนาคารกลางของลาว เพื่อสนับสนุนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม กรรมการบริหารของ AidData กล่าวว่า ธนาคารจีนที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาล มักเต็มใจที่จะผ่อนผันและขยายระยะเวลาการชำระหนี้ มากกว่าที่จะลดอัตราดอกเบี้ยให้ประเทศผู้กู้ และในบางกรณี ธนาคารเหล่านี้ ยังอาจจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยด้วยซ้ำ เพื่อให้แน่ใจว่าตลอดระยะการกู้ยืมนั้น ธนาคารจะได้รับการชำระคืนตามมูลค่าปัจจุบันของเงินกู้ดังกล่าว
ข้อมูลอ้างอิง