ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กล่าวในการระหว่างการเปิดประชุม ความมั่นคงระหว่างประเทศ ที่กรุงมอสโก ว่า สหรัฐอเมริกา กำลังพยายามทำให้ความขัดแย้งในยูเครนนั้นยืดเยื้อออกไป ไม่เพียงเท่านั้น การเดินทางเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเมื่อต้นเดือนส.ค.นี้ ก็ถือเป็น “การยั่วยุ” ที่ผ่านการวางแผนมาแล้วอย่างละเอียดรอบคอบ และเป็นการยั่วยุจีน ซึ่งเป็นพันธมิตรของรัสเซีย
"สหรัฐกำลังพยายามรักษาสถานะเจ้าโลกเบอร์หนึ่ง และชาติตะวันตกต้องการขยายระบบกลุ่มของการป้องกัน เช่น พันธมิตรทางทหารของ NATO เข้าสู่เอเชีย" ผู้นำรัสเซียกล่าว
“เรายังเห็นว่ากลุ่มตะวันตกกำลังพยายามขยายระบบกลุ่มของตนไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่นเดียวกับ NATO ในยุโรป เพื่อจุดประสงค์นี้ พันธมิตรทางการทหาร-การเมืองกำลังก่อตัวขึ้น เช่น AUKUS และพันธมิตรอื่นๆ” ปูตินกล่าวถึงสนธิสัญญาความมั่นคงไตรภาคีระหว่างออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐ ที่ลงนามเมื่อปีที่แล้ว (2564)
สถานการณ์ความตึงเครียดใน ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้น หลังจีนเปิดปฏิบัติการซ้อมรบอย่างหนักหน่วงใกล้เกาะไต้หวันตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.เป็นต้นมา เพื่อตอบโต้และเป็นการสั่งสอนทั้งสหรัฐและไต้หวันกรณีที่นางเพโลซี ซึ่งเป็นเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐและคณะ เดินทางเยือนกรุงไทเปเมื่อค่ำคืนของวันที่ 2 ส.ค.แม้ว่าจีนจะทัดทานมาโดยตลอดด้วยเหตุผลที่ว่า การเยือนไต้หวันของนางเพโลซีเท่ากับเป็นการยอมรับรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดหลักการจีนเดียวภายใต้นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่รัฐบาลสหรัฐเองก็ให้การรับรองมาหลายยุคสมัย
เมื่อกองทัพจีนประกาศซ้อมรบรอบๆ เกาะไต้หวัน ทางรัฐบาลไทเปซ้อมรบประจำปีของตัวเองในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ทำให้อุณหภูมิการเผชิญหน้าทางการเมืองในช่องแคบไต้หวันถึงกับร้อนฉ่า ซึ่งมาจนถึงขณะนี้ความตึงเครียดของการเผชิญหน้าก็ยังคงมีอยู่ โดยนอกจากจะไม่มีวี่แววคลี่คลายแล้ว ยังมีแนวโน้มจะยิ่งเพิ่มความร้อนระอุจากประเด็นเกี่ยวกับการรุกเพิ่มบทบาททางด้านกลาโหมของสหรัฐกับประเทศพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียแปซิกดังคำกล่าวของปธน.ปูตินในตอนต้น
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมสหรัฐเปิดเผยว่า กองทัพสหรัฐกับพันธมิตรในเอเชีย คือ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ได้ร่วมซ้อมรบป้องกันการโจมตีด้วยขีปนาวุธที่นอกชายฝั่งเกาะฮาวาย ซึ่งเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐ เป้าหมายเพื่อรับมือภัยคุกคามจากจีนและเกาหลีเหนือ
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่กองทัพของทั้งสามประเทศร่วมซ้อมรบในลักษณะนี้ หลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นลดระดับลงถึงจุดต่ำสุดเมื่อปีค.ศ. 2019 สืบเนื่องจากชนวนความขัดแย้งในประวัติศาสตร์เมื่อคราวที่ญี่ปุ่นยึดครองคาบสมุทรเกาหลีในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นายยูน ซุก-ยอล ประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีใต้ ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สัญญาว่าจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น พร้อมกับการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารกับสหรัฐเพื่อป้องกันการโจมตีจากเกาหลีเหนือ
ดังนั้น การซ้อมรบของสามประเทศเพื่อเตือนภัยขีปนาวุธและติดตามค้นหาขีปนาวุธวิถีโค้งครั้งนี้ จึงมีขึ้นระหว่างวันที่ 8-14 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายใต้การฝึกซ้อมทางทหารนานาชาติที่ใช้ชื่อว่า "มังกรแปซิฟิก" (Pacific Dragon) แถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ระบุว่า เป้าหมายการซ้อมรบไตรภาคีครั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการปกป้องความมั่นคง และรักษาระเบียบระหว่างประเทศ โดยจะมีการแบ่งปันข้อมูลสำคัญทางทหารระหว่างสามประเทศนี้ด้วย
ขณะเดียวกันด้านกระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ ออกมายืนยันเมื่อวันอังคาร (16 ส.ค.) ว่า ทหารเกาหลีใต้จะเข้าร่วมการซ้อมรบทวิภาคี แบบจำลองสถานการณ์จริงกับกองทัพสหรัฐระหว่างวันที่ 22 สิงหาคม - 1 กันยายนนี้ด้วย หลังจากที่การซ้อมรบดังกล่าวถูกระงับไปในช่วงสองปีที่ผ่านมาเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19
อะไรคือนาโตแห่งเอเชียแปซิฟิก
สหรัฐมีเป้าหมายเพิ่มบทบาทในเอเชียแปซิฟิกทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยการสร้างวงล้อมกีดกันจีนออกจากวงจรเศรษฐกิจที่จีนได้ประโยชน์อย่างยิ่งจากระบบการค้าเสรี เพื่อการนี้ สหรัฐซึ่งต้องการระบบที่จะสร้างผลประโยชน์ร่วมกันในกรอบเศรษฐกิจที่ตนเองเป็นผู้วางกฎระเบียบ จึงได้ริเริ่มสร้าง กรอบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า Indo-Pacific Economic Framwork (IPEF) เริ่มต้นด้วยสมาชิก 7 ชาติอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน และสิงคโปร์ กับประเทศในกลุ่ม Quad (จตุรมิตรด้านความมั่นคง) คือ สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และขยายวงไปถึงเกาหลีใต้กับนิวซีแลนด์ รวมเป็น 13 ประเทศ
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การผนวกชาติสมาชิกอาเซียน 7 ประเทศดังกล่าวเข้ากับกลุ่มจตุรมิตร Quad ที่เน้นความมั่นคง บวกกับเกาหลีใต้และนิวซีแลนด์ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐต้องการผนึกกำลัง 2 เรื่องสำคัญเข้าด้วยกัน นั่นคือ ความมั่นคงทางการทหารและอำนาจทางเศรษฐกิจการค้า
และด้วยทิศทางดังกล่าวในอนาคต สหรัฐก็จะเป็นผู้นำองค์การความร่วมมือทางทหารถึง 2 ภูมิภาค คือในยุโรป ที่มี นาโต (องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ) และในเอเชีย ที่หลายคนพูดว่ากำลังจะมี ‘นาโต2’ หรือ ‘นาโตแห่งเอเชียแปซิฟิก’ ซึ่งทั้งสองส่วนก็จะเป็นกลไกการปิดล้อมรัสเซียในยุโรป และปิดล้อมจีนในเอเชีย นั่นเอง
แม้ว่าแนวคิดการจัดตั้ง ‘นาโตแห่งเอเชียแปซิฟิก’ ยังไม่ได้เป็นรูปร่าง แต่ก็มีสมาชิกจตุรมิตร Quad บางประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือออสเตรเลีย ที่เริ่มมีท่าทีแข็งกร้าวต่อรัสเซียในกรณีบุกยูเครน รวมถึงการแสดงท่าทีในการเข้าร่วมแซงก์ชันรัสเซีย ร่วมกับสหรัฐและชาติตะวันตกอย่างเข้มข้นแล้ว