องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดเผยรายงานคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะขยายตัว 2.2% ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.8% เนื่องจากเศรษฐกิจถูกกดดันจากการที่ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า OECD ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่น จะขยายตัว 1.4% ในปี 2566 ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.8% แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงดำเนินนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษก็ตาม
ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในไตรมาส 2 ปีนี้ เนื่องจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารเข้าทำสงครามกับยูเครนได้ส่งผลให้ราคาพลังงาน อาหาร และวัตถุดิบประเภทอื่น ๆ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน OECD คาดการณ์ว่า ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจจะยังคงเกิดขึ้นต่อไปอีกระยะหนึ่ง อันเนื่องมาจากผลกระทบของการที่หลายประเทศพากันใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน
สำหรับในปี 2565 นี้ OECD คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงสู่ 1.5% และ 1.6% ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกันคาดว่า เศรษฐกิจจีน ในปีหน้า (2566) จะขยายตัวที่อัตรา 4.7% เพิ่มขึ้นจากระดับ 3.2% ในปีนี้ (2565) โดยตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิม
นอกจากนี้ OECD คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูโรโซน จะขยายตัว 3.1% ในปี 2565 แต่จะชะลอตัวลงอย่างรุนแรงจนแตะที่ระดับ 0.3% ในปี 2566 โดยระบุว่ายุโรปซึ่งต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียในระดับสูงนั้น ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ปัญหาเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความยากลำบากให้กับธนาคารกลางทั่วโลก โดย OECD คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะพุ่งขึ้น 6.2% ในปี 2565 และจากนั้นจะเพิ่มขึ้น 3.4% ในปี 2566 ขณะเดียวกันคาดว่า อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนจะพุ่งขึ้น 8.1% ในปี 2565 และเพิ่มขึ้น 6.2% ในปี 2566