"ตุรกี" ทำสถิติเงินเฟ้อนิวไฮ 83% ครองแชมป์ประเทศเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลก

04 ต.ค. 2565 | 00:02 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2565 | 07:51 น.

ตุรกี หรือในชื่อใหม่ว่า "ตุรเคีย" เผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่ง 83% ในเดือนกันยายน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 24 ปี และกลายเป็นประเทศที่กำลังเผชิญภาวะเงินเฟ้ออัตราสูงที่สุดในโลก สาเหตุจากการปรับลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ และผลกระทบจากสงครามในยูเครน

ตุรกี เปิดเผยวานนี้ (3 ก.ย.) ตัวเลข ดัชนีซีพีไอ ซึ่งสะท้อน เงินเฟ้อ ประจำเดือนกันยายน 2565 พบว่า พุ่งขึ้นไปที่ 83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 24 ปี นับตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 1998 ซึ่งในครั้งนั้นอยู่ที่ 85%

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติตุรกีเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อของตุรกีพุ่งแตะ 83.45% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี หลังธนาคารกลางตุรกีประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาแม้เงินเฟ้อพุ่งสูงอยู่ก็ตาม 


รายงานระบุว่า ดัชนีผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ย.ของตุรกีเพิ่มขึ้น 3.08% เมื่อเทียบรายเดือน ต่ำกว่าคาดการณ์ในผลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์ของรอยเตอร์ที่ 3.8% ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อเทียบรายปี อยู่ที่ 84.63%


ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.ย.ของตุรกีเพิ่มขึ้น 4.78% เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้น 151.50% เทียบรายปี

การประท้วงค่าครองชีพที่พุ่งสูงของชาวตุรกีเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ข้อมูลจากสถาบันสถิติของตุรกีพบว่า เงินเฟ้อภายในประเทศขณะนั้นอยู่ที่ระดับ 78.62% ซึ่งเป็นระดับเหนือกว่าที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ 

ราคาอาหารและเครื่องดื่มแบบไม่มีแอลกอฮอล์พุ่งขึ้นมากกว่า 90% 

ภาพรวมของสถานการณ์ในตุรกีขณะนี้คือตัวเลขค่าขนส่ง-เดินทางที่พุ่งขึ้นเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ขณะที่ราคาอาหารและเครื่องดื่มแบบไม่มีแอลกอฮอล์พุ่งขึ้นมากกว่า 90% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชากรที่มีราว 84 ล้านคนเป็นอย่างมาก 

 

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงมากนี้เป็นผลมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตุรกีที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งแล้วในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารกลางมีนโยบายคงดอกเบี้ยให้อยู่ในอัตราต่ำเพื่อหวังกระตุ้นการเติบโตให้ภาคเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลตุรกีได้มีการเปลี่ยนตัวผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศที่ไม่สนับสนุนนโยบายของรัฐไปมากถึง 4 คนแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อดังกล่าว รัฐบาลตุรกีได้มีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นการชั่วคราว เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีเมื่อเร็ว ๆนี้ โดยมีการขึ้นเงินเดือนเกือบ 30% ขณะที่อีกปัจจัยปัญหาที่ทำให้ตุรกีเผชิญความยากลำบากทางเศรษฐกิจก็คือ การอ่อนค่าของสกุลเงินลีร่า ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1 เหรียญลีร่า ต่อ 0.059 ดอลลาร์สหรัฐ จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 0.12 ดอลลาร์สหรัฐเมื่อปีที่ผ่านมา (2564) ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะการนำเข้าพลังงานสูงขึ้นมาก