"โลกเสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจผิดปกติที่เรียกว่า stagflation" นายเดวิด มัลพาสส์ ประธาน ธนาคารโลก เตือนว่า การที่ทั่วโลกจะสามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอโดยไม่ต้องพึ่งพารัสเซียนั้น อาจจะต้องใช้เวลานานหลายปี โดยนับตั้งแต่รัสเซียส่งกองกำลังทหารรุกรานยูเครนในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ทั่วโลกก็ต้องประสบกับวิกฤตพลังงาน และส่งผลให้โลกมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับ ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อสูง (stagflation)
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายมัลพาสส์ระบุในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อวันพุธ (28 ก.ย.) ว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้น ที่เศรษฐกิจยุโรปจะเผชิญกับภาวะถดถอย ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลงอย่างรุนแรง และผลผลิตทางเศรษฐกิจของสหรัฐได้หดตัวลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
"สถานการณ์เหล่านี้จะสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา" นายมัลพาสส์กล่าว พร้อมแนะนำว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างเชื่องช้านั้น จำเป็นต้องแก้ไขด้วยมาตรการทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ซึ่งรวมถึงการใช้จ่ายแบบกำหนดเป้าหมายให้มากขึ้น และการทุ่มเทความพยายามในการเพิ่มอุปทาน
อ่านเพิ่มเติม: เวิลด์แบงก์ ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปี 65 เป็น 3.1% ก่อนโตทะยาน 4.1% ปี 66
นายมัลพาสส์กล่าวว่า เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงราคาอาหาร ปุ๋ย และพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างมาก รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น การอ่อนค่าของสกุลเงิน และเม็ดเงินทุนที่ไหลออกนอกประเทศ
นอกจากนี้ เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนายังเผชิญกับอันตรายจากการที่เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายประเทศที่ประสบกับความยากลำบากในการหวนกลับไปมีรายได้ต่อหัวประชากรที่ระดับก่อนเกิดโรคโควิด-19 แพร่ระบาด