thansettakij
‘ตุรกี’ เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ‘ตุรเคีย’ (Turkiye) มีผลทันที มิ.ย.65

‘ตุรกี’ เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ‘ตุรเคีย’ (Turkiye) มีผลทันที มิ.ย.65

03 มิ.ย. 2565 | 23:43 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มิ.ย. 2565 | 07:51 น.

ตุรกีแจ้งต่อสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าได้เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น ‘ตุรเคีย’ อย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยชื่อใหม่เป็นภาษาอังกฤษสะกดว่า Turkiye เหตุผลเพื่อชื่อประเทศจะได้ไม่ไปพ้องรูปกับคำว่า Turkey ที่ภาษาอังกฤษแปลว่า ‘ไก่งวง’ อีกต่อไป

องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประกาศว่า ตุรกี ได้แจ้งกับทางยูเอ็นอย่างเป็นทางการแล้วว่า ขอเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น "ตุรเคีย"  (Turkiye) ซึ่งนายสเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกเลขาธิการยูเอ็น ระบุว่า การเปลี่ยนชื่อดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในทันที

 

ทั้งนี้ สำนักงานใหญ่ของยูเอ็นที่นิวยอร์กได้รับจดหมายจากตุรกีเพื่อขอเปลี่ยนชื่อประเทศที่ใช้ในสหประชาชาติอย่างเป็นทางการเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (1 มิ.ย.) โดยนายเมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีเปิดเผยว่า เขาได้ส่งจดหมายถึงนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็น เพื่อขอจดทะเบียนชื่อประเทศใหม่ในภาษาต่างประเทศเป็น "ตุรเคีย" (Turkiye)

 

อย่างไรก็ตามประชาชนตุรกี หรือชาวเติร์กซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม รู้จักประเทศตัวเองในนาม "ตุรเคีย" (Turkiye) มาเนิ่นนานอยู่แล้ว แต่ยังคงมีการใช้ภาษาอังกฤษว่า ตุรกี (Turkey) กันอย่างกว้างขวาง แม้แต่คนในประเทศเอง

อิสตันบูล เมืองใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของตุรเคีย ขณะที่เมืองหลวงคือ อังการา อิสตันบูล เมืองใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของตุรเคีย ขณะที่เมืองหลวงคือ อังการา

สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า หนึ่งในเหตุผลในการเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่ครั้งนี้ก็คือ การที่ชื่อประเทศตุรกี (Turkey) ที่เป็นภาษาอังกฤษมีความหมายว่า ‘ไก่งวง’ ซึ่งเป็นสัตว์ปีกที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลคริสต์มาส ปีใหม่ และวันขอบคุณพระเจ้านั่นเอง

เรามาทำความรู้จักประเทศ ‘ตุรเคีย’ กันโดยสังเขป ประเทศตุรเคีย หรือ‘ตุรกี’เดิมนั้น เป็นสาธารณรัฐระบบประธานาธิบดีในยูเรเชีย ซึ่งหมายถึงพื้นที่ประเทศตั้งอยู่ใน 2 ทวีป คือ ยุโรป และ เอเชีย

 

พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศตั้งอยู่ในเอเชียตะวันตก มีพื้นที่ส่วนน้อยในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศตุรเคียมีพรมแดนติดต่อกับ 8 ประเทศ ได้แก่ ประเทศซีเรียและประเทศอิรักทางใต้ ประเทศอิหร่าน ประเทศอาร์มีเนีย และดินแดนส่วนแยกนาคีชีวันของประเทศอาเซอร์ไบจานทางตะวันออก ประเทศจอร์เจียทางตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศบัลแกเรียทางตะวันตกเฉียงเหนือ และประเทศกรีซทางตะวันตก

ตุรเคีย ติด 8 ประเทศ 3 ทะเล ตุรเคีย ติด 8 ประเทศ 3 ทะเล

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ 3 ทิศติดทะเล โดยมีทะเลดำอยู่ทางเหนือของประเทศ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนทางใต้ และทะเลอีเจียนทางตะวันตก ช่องแคบบอสฟอรัส ทะเลมาร์มะรา และดาร์ดะเนลส์ (รวมกันเป็นช่องแคบตุรกี) แบ่งเขตแดนระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย ด้วยความที่จุดที่ตั้งของตุรเคียอยู่ ณ ทางแพร่งของยุโรปและเอเชียทำให้ตุรกีมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างยิ่ง โดยเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีเมืองหลวงคืออังการา ในขณะที่เมืองที่ใหญ่ที่สุดและเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจคืออิสตันบูล ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิออตโตมันจนถึง ค.ศ. 1923

แม้จะเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ในปัจจุบัน ตุรเคียถือเป็นประเทศมหาอำนาจในเอเชียตะวันตก และเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ เศรษฐกิจของประเทศจัดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่และเป็นผู้นำการเติบโตในภูมิภาค

ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน

ตุรเคีย เป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ของโลกตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และใหญ่เป็นอันดับที่ 11 โดยภาวะเสมอภาคของอำนาจซื้อ (ข้อมูลปี 2565)

 

นอกจากนี้ ยังเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และเป็นสมาชิกรุ่นแรกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก เป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ, องค์การว่าด้วยความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป, องค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจในทะเลดำ, องค์การความร่วมมืออิสลาม และกลุ่ม G20 หลังจากกลายเป็นหนึ่งในสมาชิกรุ่นแรกของสภายุโรปในปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ.2493)

 

ในปี 1995 (พ.ศ.2538) ตุรเคียเข้าร่วมสหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรป (อียู) และเริ่มการเจรจาภาคยานุวัติกับสหภาพยุโรปขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูใน ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการอนุมัติเข้าร่วมเป็นสมาชิกอียูแต่อย่างใด