กล่าวได้ว่า โควิด เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง ความประหยัดรูปแบบใหม่ กำลังแพร่ขยายออกไปในสังคม คนยุคใหม่ของจีน โดยการที่บรรดา “อินฟลูเอนเซอร์” หรือ ผู้มีอิทธิพลในโลกโซเชียล ต่างพยายามโน้มน้าวผู้คนให้ ใช้ชีวิตแบบประหยัด อีกทั้งยังแบ่งปันเคล็ดลับต่าง ๆ ในการประหยัดเงิน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่คุกคามต่อประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สองของโลก เนื่องจาก การใช้จ่ายของผู้บริโภค มีสัดส่วนเกินครึ่งหนึ่งของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของจีน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ก่อนการเกิดโรคระบาดใหญ่ที่คุกคามไปทั่วโลกอย่างโควิด-19 ชาวจีนยุคใหม่ในช่วงอายุ 20 และ 30 ปี หลายคนซึ่งรวมถึง ดอริส ฝู ที่ปรึกษาด้านการตลาดในเซี่ยงไฮ้วัย 39 ปี มีแผนจะซื้อรถยนต์คันใหม่ ย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนท์ขนาดใหญ่ขึ้น ออกไปทานอาหารเลิศรสในวันหยุดสุดสัปดาห์ และไปท่องเที่ยวตามหมู่เกาะในช่วงเทศกาลวันหยุดต่างๆ แต่หลังจากผลกระทบของโควิดรุนแรงยิ่งขึ้น พวกเขาก็จำเป็นต้องพับแผน และหันมาลดการใช้จ่ายลงเท่าที่จะทำได้
ฝูกล่าวกับรอยเตอร์ว่า เธอเลิกทำเล็บ เลิกเข้าร้านทำผม และหันมาซื้อเครื่องสำอางที่ผลิตในจีนทั้งหมด เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เบนจามิน คาเวนเดอร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทวิจัยตลาด ไชน่า มาร์เก็ต รีเสิร์ช กรุ๊ป (CMR) เปิดเผยว่า จากการทำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคมาเป็นเวลา 16 ปี เขาพบว่า ในช่วงเวลานี้พฤติกรรมการบริโภคของคนหนุ่มสาวเป็นสิ่งที่ “น่ากังวลมากที่สุด”
ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ หรือ Zero Covid ของจีน ซึ่งรวมถึงการล็อกดาวน์ที่เข้มงวด การจำกัดการเดินทาง และการตรวจหาเชื้อ ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ การปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของรัฐบาลยังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อแรงงานหนุ่มสาวอีกด้วย
ข้อมูลของทางการจีนระบุว่า การว่างงานในหมู่คนที่มีอายุระหว่าง 16 ถึง 24 ปีอยู่ที่เกือบ 19% หลังจากที่เคยมีสถิติสูงสุดอยู่ที่ 20% ในเดือนก.ค.2565 นอกจากนี้ ข้อมูลของบริษัทจัดหางานออนไลน์ Zhilian Zhaopin ยังเปิดเผยว่า คนหนุ่มสาวบางคนถูกบังคับให้รับค่าจ้างที่ลดลง และ เงินเดือนเฉลี่ยใน 38 เมืองใหญ่ของจีนลดลง 1% ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้
สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้คนหนุ่มสาวบางคนพยายามเก็บหอมรอมริบมากกว่าที่จะนำเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
ในช่วงปี 2019 ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิดนั้น ยอดขายสินค้าปลีกในจีนขยายตัวในอัตราสูงถึง 7% ขึ้นไป แต่ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ ก.ค. 2565) ตัวเลขการขยายตัวดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ระดับเพียง 2.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 จากนั้นในเดือนส.ค. แม้จะฟื้นตัวเล็กน้อยเป็น 5.4% แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับที่เคยทำได้ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด
แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ประชากรจีนเกือบ 60% มีแนวโน้มที่จะเก็บออมกันมากขึ้น แทนที่จะบริโภคหรือลงทุนมากขึ้น (เป็นข้อมูลการสำรวจประจำไตรมาสล่าสุดโดยธนาคารกลางของจีน หรือ PBOC) ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 45% เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ครอบครัวชาวจีนฝากเงินเข้าธนาคารกันถึง 10.8 ล้านล้านหยวน หรือราว 1.54 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (2565) ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 6.4 ล้านล้านหยวนในช่วงเดียวกันของปี 2564 เรื่องนี้เป็นปัญหาสำหรับผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของจีนซึ่งพึ่งพาการบริโภคของประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมาเป็นเวลายาวนาน
จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลกเพียงประเทศเดียวที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เพื่อที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยธนาคารใหญ่ ๆ ของรัฐบาลจีนได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากส่วนบุคคลในวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้คนเลิกออมเงินและหันมาบริโภคกันมากขึ้น
เจ้าหน้าที่ของ PBOC กล่าวถึงสถานการณ์ที่ประชากรหันมาออมเงินกันมากขึ้นเมื่อเดือน ก.ค. ว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย การลงทุนและการบริโภคก็จะเพิ่มขึ้นและจะมีความมั่นคงอีกด้วย
“ในอดีต หากเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้บริโภคมักจะรู้สึกว่านโยบายของรัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว” นักวิจัยจาก CMR กล่าว แต่ความท้าทายในขณะนี้ก็คือ การที่ผู้บริโภควัยหนุ่มสาวไม่สามารถคาดเดาอนาคตของตัวเองได้เลย