กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผย รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) วานนี้ (11 ต.ค.) โดยได้คงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ (2565) ไว้ที่ระดับ 3.2% แต่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์สำหรับปี 2566 เหลือเพียง 2.7% จากเดิมคาดไว้ที่ระดับ 2.9%
"ภาวะเลวร้ายที่สุดกำลังรออยู่ข้างหน้า และประชาชนจำนวนมากจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า" รายงานระบุ
รายงานดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ การขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดของเศรษฐกิจโลกนับตั้งแต่ปี 2544 หรือในรอบ 21 ปี นอกเหนือจากช่วงที่เกิดวิกฤตการเงิน และการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19
นอกจากนี้ แม้ IMF จะคงตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ (2565) ไว้ที่ระดับ 3.2% แต่นั่นก็เป็นการชะลอตัวลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่จีดีพีโลกมีการขยายตัวที่ระดับ 6%
รายงานระบุว่า เศรษฐกิจโลกมากกว่า 1 ใน 3 จะเผชิญภาวะเศรษฐกิจหดตัวในปีนี้หรือปีหน้า ขณะที่การขยายตัวของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีนจะชะลอตัวลง
IMF ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ได้แก่
ซึ่งจะทำให้เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และนิเวศวิทยา
ขณะเดียวกัน IMF ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของ เศรษฐกิจสหรัฐ ในปีนี้และปีหน้า สู่ระดับ 1.6% และ 1% ตามลำดับ โดยเป็นผลจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั่นเอง
IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของ เศรษฐกิจจีน ในปีนี้และปีหน้า สู่ระดับ 3.2% และ 4.4% ตามลำดับ โดยเป็นผลกระทบจากการใช้มาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดของรัฐบาลจีน และวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเอง
นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่า ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกจะแตะจุดสูงสุดในช่วงปลายปีนี้ โดยแตะระดับ 8.8% จากระดับ 4.7% ในปี 2564 ก่อนที่จะชะลอตัวลงสู่ระดับ 6.5% ในปี 2566 และ 4.1% ในปี 2567