สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ข้อเรียกร้องขอความสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์ของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ที่มีต่อเหล่า ผู้นำกลุ่ม G7 มีขึ้นวานนี้ (11 ต.ค.) หลังจาก รัสเซีย ยิงขีปนาวุธเข้าใส่เมืองใหญ่ ๆ ของ ยูเครน รวมถึงกรุงเคียฟซึ่งเป็นเมืองหลวง โดยปธน.เซเลนสกีระบุว่า กองกำลังรัสเซียได้ยิงขีปนาวุธนำวิถีจำนวนมากกว่า 100 ลูก และใช้โดรนอีกหลายสิบลำในการโจมตีครั้งนี้
ผู้นำยูเครนได้เรียกร้องให้เหล่าผู้นำ G7 ช่วยติดตั้งระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศให้กับยูเครน ซึ่งเป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อติดตามและสกัดกั้นการโจมตีจากขีปนาวุธบนอากาศก่อนที่จะถึงเป้าหมาย
ทั้งนี้ ผู้นำยูเครนให้เหตุผลว่า "หากยูเครนได้ติดตั้งระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยอย่างเพียงพอ การโจมตีที่สร้างความหวาดกลัวให้แก่ยูเครนอย่างการยิงขีปนาวุธของรัสเซียก็จะไร้ผล"
นอกจากนี้ ปธน.เซเลนสกียังเสนอให้กลุ่ม G7 ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก ร่วมกันคว่ำบาตรภาคพลังงานของรัสเซีย หลังจากที่การโจมตีก่อนหน้านี้ได้สร้างความเสียหายให้แก่ศูนย์ให้บริการพลังงานของยูเครนอย่างน้อย 12 แห่งทั่วประเทศ
"ในเมื่อรัสเซียโจมตีภาคพลังงานและเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศของเรา เราต้องปิดกั้นภาคพลังงานของรัสเซียด้วยการคว่ำบาตร เพื่อทำลายเสถียรภาพด้านรายได้ของรัสเซียที่มาจากการค้าน้ำมันและก๊าซ" ปธน.เซเลนสกีกล่าว
พร้อมกันนี้ เขายังเรียกร้องให้ดำเนินการกำหนดเพดานราคาการส่งออกน้ำมันและก๊าซขั้นรุนแรง เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงของรัสเซีย
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ร่วมของเหล่าผู้นำ G7 ระบุให้คำมั่นในการสนับสนุนยูเครนว่า "กลุ่ม G7 จะยังคงเดินหน้ากดดันด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย พร้อมให้การสนับสนุนด้านการเงิน มนุษยธรรม การทหาร การทูต และทางกฎหมายแก่ยูเครน และจะร่วมยืนหยัดเคียงข้างยูเครนไปจนกว่าสงครามนี้จะสิ้นสุดลง"
การประชุมทางไกลของผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ที่เรียกว่า G7 อันประกอบด้วยแคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี ญี่ปุ่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เป็นการประชุมฉุกเฉินเพื่อรับมือกับสถานการณ์สู้รบที่หนักข้อยิ่งขึ้นในยูเครน ผู้นำกลุ่ม G7 ระบุยืนยันว่าจะหนุนยูเครนตราบนานเท่านาน ด้วยการให้ความช่วยเหลือทางทหารและมนุษยธรรมต่อไป นอกจากนี้ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ก็ได้ประกาศจะยืนหยัดเคียงข้างยูเครนเท่าที่จำเป็นเช่นกัน