ผู้ว่าการ BOJ คนใหม่ : ใครจะมาแทน "ฮารุฮิโกะ คุโรดะ"

17 ต.ค. 2565 | 08:38 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2565 | 07:42 น.

นายกฯญี่ปุ่น เตรียมแต่งตั้งผู้ว่าการธนาคารกลาง (BOJ) คนใหม่เดือนเมษายนปีหน้า หลังจากที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง เรามาดูกันว่าใครเป็นจะเป็นตัวเต็ง ใครจะเป็นม้ามืด ที่เตรียมขึ้นมาสานต่อภารกิจในตำแหน่งสำคัญนี้

การเสาะหาผู้เข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ คนใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว เพื่อสืบสานภารกิจต่อจาก นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ คนปัจจุบัน ที่กำลังจะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 8 เมษายนปีหน้า แต่การเปิดเผยเกี่ยวกับผู้ว่าการ BOJ คนใหม่อาจมีขึ้นหลังจากนั้น

 

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยวันนี้ (17 ต.ค.) ว่า เขาจะแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมที่สุดเพื่อเข้ารับตำแหน่งนี้ในเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า แม้จะมีการกะเก็งเกี่ยวกับบุคลากรที่จะเข้ามารับตำแหน่งสำคัญดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม แต่การตัดสินใจเลือกและประกาศชื่อผู้ว่าการ BOJ คนใหม่นั้น อาจมีขึ้นหลังจากที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ คนปัจจุบัน สิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 8 เดือนเม.ย. 2566 เสียก่อน 

ฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ คนปัจจุบัน
ทั้งนี้ นายคิชิดะ แถลงเจตนารมณ์ดังกล่าวต่อรัฐสภาโดยไม่ระบุชื่อผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ และไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับช่วงเวลาที่แน่นอน
 

นายคิชิดะกล่าวกับคณะกรรมาธิการด้านงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่นว่า คุณสมบัติของผู้ว่าการ BOJ คือ การมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลด้านนโยบายการเงินและการประสานงานระหว่าง BOJ กับรัฐบาลญี่ปุ่น สองสิ่งนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจเลือกผู้ว่าการ BOJ คนใหม่


อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่า ภารกิจที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับใครก็ตามที่จะขึ้นมาเป็นผู้ว่าการ BOJ คนใหม่ก็คือ การใช้นโยบายการเงินที่เหมาะสมในการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้พลิกฟื้นขึ้นมาหลังได้รับผลกระทบจากโควิดมายาวนาน แถมถูกซ้ำเติมด้วยเงินเฟ้อและภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

นอกจากนี้ BOJ ยังพบกับความยากลำบากในการบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ทั้งนี้  BOJ คาดการณ์ว่า จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าวได้ก่อนที่นายคุโรดะจะครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่า BOJ ในเดือนเม.ย.ปีหน้า (2566) แม้ว่า BOJ จะพยายามดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินแบบเชิงรุกมาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม

มีใครเป็นตัวเต็ง ใครเป็นม้ามืดบ้าง

หนึ่งในตัวเต็งที่มีการคาดหมายอย่างมาก คือ นายมาซาโยชิ อะมามิยะ (Masayoshi Amamiya) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการ BOJ เขาคนนี้ทำงานเป็นลูกหม้อ BOJ มาเป็นเวลายาวนานถึง 43 ปี (เริ่มเข้าทำงานในปี 1979) 

มาซาโยชิ อะมามิยะ

ส่วนอีกคนที่ดูจะสูสีมาด้วยกัน คือ นายฮิโรชิ นาคาโสะ (Hiroshi Nakaso) อดีตรองผู้ว่าการ BOJ (เข้าร่วมงานตั้งแต่ปี 1978) แต่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานสถาบันวิจัยไดวา (Daiwa Research Institute)

ฮิโรชิ นาคาโสะ อีกหนึ่งตัวเต็งผู้ว่าการ BOJ คนใหม่

สำหรับผู้ที่ถูกมองว่าอาจจะเป็น "ม้ามืด" วิ่งเข้าวินในช่วงโค้งสุดท้ายก็เป็นได้ คือ นายชิเกอากิ โอคาโมโตะ (Shigeaki Okamoto) อดีตผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงการคลัง ปัจจุบันเป็นรองประธานบริษัทยาสูบญี่ปุ่น (Japan Tobacco) 

ชิเกอากิ โอคาโมโตะ เขาจะเป็นม้ามืดหรือไม่ เมษายนปีหน้ารู้กัน

แม้ตอนแรกคนส่วนใหญ่จะมองว่า โอคาโมโตะน่าจะเป็นตัวเต็งได้ขึ้นเป็นรองผู้ว่าฯ BOJ ที่ตำแหน่งกำลังจะว่างลงในเดือนมีนาคม 2566 มากกว่า แต่มาระยะหลังๆ ปรากฏว่า มีผู้คาดหมายเขาอาจจะได้ขึ้นถึงตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ เลยก็เป็นได้ เพราะแม้ BOJ จะทำงานเป็นเอกเทศ แต่ก็อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง การที่โอคาโมโตะเคยมีประสบการณ์ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง อาจจะทำให้การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังของญี่ปุ่นมีความสอดคล้องกันมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ คนปัจจุบัน ก็เคยเป็นรัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นมาก่อนเช่นกัน