การประชุมทวิภาคี ระหว่าง นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ กับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในวันจันทร์นี้ (14 พ.ย.) ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการพบหน้ากันครั้งแรก (ไม่ใช่ผ่านระบบออนไลน์) นับตั้งแต่ที่ปธน.ไบเดนเข้ารับตำแหน่งผู้สหรัฐเมื่อต้นปี 2564 และเป็น การประชุมนอกรอบการประชุมผู้นำกลุ่ม จี-20 เป็นที่คาดหมายว่า ผู้นำทั้งสองจะเน้นหารือกันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีน ตลอดจนความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่สหรัฐเชื่อว่าเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและการทหาร
ที่ผ่านมา บรรดาเจ้าหน้าที่สหรัฐ เน้นย้ำหลายครั้งว่า อเมริกามองจีนเป็น "คู่แข่งขัน" ไม่ใช่ "ศัตรู" และต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ
ในการหารือแบบเจอหน้ากันครั้งแรกของพญาอินทรี (ผู้นำสหรัฐ) และพญามังกร (ผู้นำจีน) ในครั้งนี้ มีหลายประเด็นที่ต้องจับตามอง และที่สำคัญคือ จำเป็นต้องเข้าใจว่า ต่างฝ่ายต่างต้องการอะไร
ในการแถลงข่าวก่อนออกเดินทางจากกรุงวอชิงตัน ปธน.ไบเดน กล่าวว่า เขาต้องการขีดเส้นที่ชัดเจนว่าด้วยจุดยืนของสหรัฐและจีน รวมทั้งทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เป็นผลประโยชน์แห่งชาติของจีน และอธิบายส่วนที่เป็นผลประโยชน์สำคัญของสหรัฐเช่นกัน
เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวระบุว่า แม้ประธานาธิบดีไบเดนและประธานาธิบดีสีได้พูดคุยผ่านวิดีโอและโทรศัพท์กันมาแล้ว 5 ครั้งในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา แต่การบรรลุเป้าหมายนี้ได้จะต้องทำผ่านการเจรจาแบบพบกันซึ่งหน้าเท่านั้น
ภารกิจดังกล่าวมีความจำเป็นยิ่งขึ้นหลังจากที่ สี จิ้นผิง ผ่านการรับรองให้ดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นสมัยที่สามเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา และทำให้เขามีอำนาจเพิ่มขึ้นเหนือผู้นำจีนคนใดนับตั้งแต่ยุคสมัยของเหมา เจ๋อตุง
ไบเดน กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันอาทิตย์ (13 พ.ย.)ว่า ที่ผ่านมา เขาเจรจากับสี จิ้นผิง อย่างตรงไปตรงมา เพื่อป้องกัน "การตีความผิดๆ" เกี่ยวกับความตั้งใจที่แท้จริงระหว่างกัน และว่า "เราจะหาทางทำความเข้าใจกันว่าเส้นแบ่งที่ชัดเจนอยู่ตรงไหน และอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของทั้งสองฝ่ายในช่วงสองปีข้างหน้า"
ทั้งนี้ คาดว่าประธานาธิบดีไบเดนจะบอกกล่าวแก่ปธน.สี เกี่ยวกับสิ่งที่ทำเนียบขาวกังวลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีน และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีน ส่วนประเด็นเกี่ยวกับไต้หวันนั้น เชื่อว่าผู้นำสหรัฐจะเน้นย้ำถึงจุดยืนของอเมริกาในการปกป้องไต้หวันหากถูกจีนโจมตี
ส่วนกรณีเกี่ยวกับสงครามในยูเครน คาดว่าผู้นำสหรัฐจะใช้การพบกันครั้งนี้เพื่อเร่งเร้าให้จีนเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย หลังจากที่ผ่านมาจีนยังคงเลี่ยงการตำหนิวิจารณ์รัสเซียที่ส่งกำลังทหารรุกรานยูเครน แต่ก็ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัสเซียเช่นกัน
สุดท้าย เจ้าหน้าที่สหรัฐกล่าวว่า ต้องการเห็นสหรัฐและจีนทำงานร่วมกันในหลายประเด็น ตั้งแต่สุขภาพ สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศโลก และการต่อต้านยาเสพติด แม้ว่ามีหลายประเด็นที่ไม่อยู่ในการหารือระดับผู้นำในครั้งนี้ก็ตาม
แล้วสิ่งที่ฝ่ายจีนต้องการล่ะ? คาดว่า ประเด็นสำคัญที่จีนต้องการเห็นท่าทีที่ชัดเจนของสหรัฐมี 2 ประการด้วยกัน คือ เรื่องการค้าและไต้หวัน
ในการประชุม จี-20 ที่บาหลีครั้งนี้ และการหารือทวิภาคีกับปธน.ไบเดน จะทำให้ประธานาธิบดีสีได้รับโอกาสสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของจีนในฐานะผู้นำบนเวทีโลก รวมทั้งภาพลักษณ์ของตนเองในฐานะผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของจีนซึ่งสามารถกอบกู้ศักยภาพทางเศรษฐกิจและการทหารของประเทศได้
นายเควิน รัดด์ อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และประธานองค์กร Asia Society ให้ความเห็นว่า จีนกำลังเดินหน้าตามนโยบายที่มีเป้าหมายเปลี่ยนแปลงสถานะของประชาคมโลก แม้จะต้องสั่นคลอนความสัมพันธ์กับสหรัฐ ยุโรป และหลายประเทศในเอเชียก็ตาม
ด้านนายจ้าว หลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า การประชุมกับปธน.ไบเดน ครั้งนี้ คือวาระสำคัญทางการทูตของจีนในเอเชียแปซิฟิก ปธน.สี จะกล่าวปราศรัยสำคัญเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีน โฆษกจีนผู้นี้ยังขอร้องให้สหรัฐหยุดเล่นเกมการเมืองในส่วนของการค้า และขอให้ยอมรับว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน
ทางการปักกิ่งต้องการให้รัฐบาลกรุงวอชิงตันยกเลิกภาษีการค้าที่ถูกนำมาใช้ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และขอให้ยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกชิปคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้แก่จีน ตลอดจนยุติการขัดขวางและบิดเบือนหลักการ "จีนเดียว"
การประชุม จี-20 ที่อินโดนีเซียครั้งนี้ ถือเป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งที่สองของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในรอบสองปีครึ่ง ในขณะที่รัฐบาลจีนยังคงใช้นโยบาย "โควิดเป็นศูนย์" อย่างเข้มงวดภายในประเทศ
ทั้งนี้ ในการร่วมประชุมกับผู้นำรัสเซียและผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกกลางเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ปธน.สี ปฏิเสธไม่ร่วมงานรับประทานอาหารค่ำตามธรรมเนียมปฏิบัติ และไม่เข้าร่วมถ่ายรูปหมู่ของบรรดาผู้นำ ที่ซึ่งปธน.รัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน และผู้นำคนอื่น ๆ ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยในงานดังกล่าวด้วย