ไบแนนซ์ (Binance) แพลตฟอร์มซื้อขาย คริปโตเคอร์เรนซี รายใหญ่ที่สุดในโลกกำลังเผชิญภาวะสินทรัพย์ไหลออก โดยรายงานระบุว่า นับตั้งแต่ที่ บริษัท เอฟทีเอ็กซ์ (FTX) คู่แข่งที่มีขนาดเล็กกว่า ล้มละลายไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา (2565) นักลงทุนก็สูญเสียความเชื่อมั่นใน ตลาดคริปโต และพากันแห่ถอนสินทรัพย์คริปโตออกจากไบแนนซ์ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มูลค่าที่ถูกถอนออกไปพุ่งแตะ 12,000 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาไม่ถึง 2 เดือน
แม้ว่านายจ้าว ฉางเผิง (หรือที่รู้จักในนาม CZ ในวงการคริปโต) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไบแนนซ์ จะออกมาเน้นย้ำว่าสถานการณ์ของไบแนนซ์ยังอยู่ในจุดที่ "ควบคุมได้ แต่เฉพาะเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (6 ม.ค.)เพียงวันเดียว ลูกค้าก็ยังคงแห่มาถอนเงินคริปโตออกไปจากไบแนนซ์เป็นยอดสุทธิถึง 360 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 12,060 ล้านบาท (จากการรวบรวมข้อมูลตลาดคริปโตของบริษัท Defillama)
เค้าลางความยุ่งยากของไบแนนซ์เริ่มตั้งแต่กลางเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อนานเซน (Nansen) บริษัทข้อมูลบล็อกเชนระบุเมื่อวันที่13 ธ.ค.ว่า ไบแนนซ์ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เผชิญการแห่ถอนสินทรัพย์คริปโตถึง 1,900 ล้านดอลลาร์ภายในช่วงเวลาเพียง 24 ชั่วโมง หลังจากที่ไบแนนซ์ประกาศว่า บริษัทได้ระงับการถอนเหรียญสเตเบิล USDC เป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกันก็ดำเนินการสวอปเหรียญโทเคนเพื่อเปลี่ยนเหรียญสเตเบิลประเภทอื่น ๆ เช่น PAX หรือ BUSD เป็น USDC เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการถอน USDC ของนักลงทุน
ทั้งนี้ การถอนเหรียญคริปโต 1,900 ล้านดอลลาร์ดังกล่าวนับเป็นการถอนรายวันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 13 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา
โฆษกของนานเซนเปิดเผยว่า “นักลงทุนแห่ถอนคริปโตออกจากไบแนนซ์มากขึ้น เพราะความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงเกี่ยวกับรายงานทุนสำรอง” แต่ ณ ขณะนั้น นายจ้าว ฉางเผิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไบแนนซ์โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า
“การถอนคริปโตดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจ วันนี้เราเห็นการถอนเงินสุทธิ 1,140 ล้านดอลลาร์ แต่เราก็เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน บางวันเราก็มีแต่การถอนสุทธิ แต่บางวันเราก็มีการฝากสุทธิเช่นกัน”
ส่วนโฆษกไบแนนซ์เปิดเผยว่า บริษัทมีทุนสำรองเพื่อรองรับการถอนเงินจำนวนมากเกินพอเสมอ โดยสินทรัพย์ของผู้ใช้บริการของไบแนนซ์นั้นมีทุนสำรองในสัดส่วน 1:1 และโครงสร้างทุนของไบแนนซ์ก็ปลอดหนี้สิน
และเมื่อสื่อถามว่า ไบแนนซ์มีเหรียญ USDC เพียงพอสำหรับให้นักลงทุนถอนหรือไม่ โฆษกระบุว่า บริษัทอาจต้องโยกย้ายทุนจากกระเป๋าออฟไลน์ไปยังกระเป๋าออนไลน์ รวมถึงแปลงเหรียญสเตเบิลคอยน์ชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่ง หรือปรับปรุงเครือข่าย ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เกิดความล่าช้า
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปัจจุบันบรรดาผู้ใช้งานและหน่วยงานกำกับดูแลด้านกฎระเบียบกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับวิธีการที่บริษัทซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโต เช่น ไบแนนซ์ และเอฟทีเอ็กซ์ (FTX ซึ่งเป็นคู่แข่งที่ปัจจุบันประสบปัญหาล้มละลาย) ในการรับมือกับการฝากเหรียญคริปโตของลูกค้า
ทั้งนี้ นายแซม แบงค์แมน-ฟรีด ผู้ก่อตั้ง FTX ได้ถูกสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) ตั้งข้อหาฉ้อโกงนักลงทุนไปเมื่อเร็ว ๆนี้ และกำลังจะมีการพิจารณาคดีกันในเดือนตุลาคม
ไบแนนซ์พยายามเรียกความเชื่อมั่นคืนมา ด้วยการโพสต์รายงานทุนสำรองที่จัดทำโดยมาซาร์ส (Mazars) บริษัทตรวจสอบบัญชีผ่านทางบัญชีทวิตเตอร์ โดยรายงานฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ไบแนนซ์ถือครองบิตคอยน์ในจำนวนมากกว่าที่ลูกค้าฝากเอาไว้ ณ วันที่ 22 พ.ย.2565
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นใช่ว่าจะกลับคืนมาโดยง่าย ฟอร์บส์รายงานว่าเหรียญคริปโตของไบแนนซ์ที่มีชื่อว่า ไบแนนซ์ คอยน์ (Binance Coin) หรือ BNB และ ไบแนนซ์ ยูเอสดี (Binance USD) หรือ BUSD ต่างมีราคาลดลง โดย BNB มีมูลค่าลดลงแล้ว 29% ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา และไบแนนซ์มี BNB ในครอบครองอยู่ราว 29 ล้านเหรียญ น้อยลงกว่าที่เคยประกาศไว้เมื่อวันที่ 10 พ.ย.65 ราว 51% ส่วนจำนวนเหรียญ BUSD ของไบแนนซ์มีน้อยลง 40%