3 ฉากทัศน์ ขั้วอำนาจโลก ในอนาคต 20ปี ที่ไม่เหมือนเดิม

20 ก.พ. 2566 | 01:49 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.พ. 2566 | 02:09 น.

ศูนย์อนาคตศึกษา ฉายภาพ 3 ฉากทัศน์ ขั้วอำนาจโลก ในอนาคต 20ปี ที่ไม่เหมือนเดิม ประเทศไทยต้องเผชิญกับอะไรบ้าง แนวทางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับโลก รักษาผลประโยชน์ชาติ

ในปัจจุบันที่โลกมีการแข่งขันสูง รวมถึงการขยายอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ เพื่อครองความเป็นผู้นำในทุกมิติ นานาประเทศทั่วโลกล้วนต้องวางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ต้องรักษาสมดุลเชิงรุก ไม่เลือกข้างมหาอำนาจ พร้อมสร้างความเข้มแข็ง และอำนาจต่อรองทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคให้เกิดขึ้น

สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้เผยแพร่ บทวิเคราะห์ของศูนย์อนาคตศึกษา ถึงความเป็นไปได้ ของโครงสร้างขั้วอำนาจโลกในอีก 20ปีข้างหน้า  ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันได้ถึง 3 ฉากทัศน์ ในระบบระหว่างประเทศที่เกี่ยวพันกับการกำหนดระเบียบโลก (world order) และทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมโลก ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร เทคโนโลยี และสังคม-วัฒนธรรม

ยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปัจจุบัน ทำให้หลายประเทศ ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านจากการแข่งขันของ 2 มหาอำนาจที่เกิดขึ้น จึงนำมาสู่การเร่งสะสมกำลังอำนาจ และส่งเสริมสถานะของประเทศตนเอง ทั้งรัสเซีย ประเทศในสหภาพยุโรป (European Union-EU) สหราชอาณาจักร อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย 

ในปี 2583 ศูนย์อนาคตศึกษา วิเคราะห์โครงสร้างขั้วอำนาจโลกที่เป็นไปได้ถึง 3 ฉากทัศน์ จากปัจจัยต่างๆเช่น ประเทศมหาอำนาจส่งเสริมความร่วมมือในวงจํากัดมากขึ้น ,การสร้างห่วงโซ่อุปทานแบบเฉพาะกลุ่ม ,การถ่ายทอดเทคโนโลยีในกลุ่มพันธมิตร ,การแข่งขันทางการทหาร ,ความเสื่อมถอยขององค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น

5 ตัวแสดงหลัก ในโครงสร้างขั้วอำนาจโลกปี 2583 (Global Powers in 2040)ได้แก่ 

  1. ประเทศมหาอำนาจ เป็นศูนย์กลาง 
  2. ประเทศที่มีกำลังอำนาจในระดับกลาง 
  3. ประเทศขนาดเล็ก 
  4. กลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศ 
  5. ตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ

ฉายภาพ 3 ฉากทัศน์

ฉากทัศน์ที่ 1 A World with Two Systems โลกแบ่งเป็น 2 ขั้ว อำนาจ

ขั้วที่ 1 คือขั้วกลุ่มประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตย นำโดยประเทศสหรัฐฯ โดยมีสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย สหราชราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ เป็นพันธมิตร และหุ้นส่วนความร่วมมือเหนียวแน่น โดยสหรัฐฯ มุ่งเสริมสร้าง ความเข้มแข็งผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคี ขนาดเล็กในทุกภูมิภาค

ขั้วที่ 2 คือขั้วกลุ่มประเทศอำนาจนิยม นำโดย ประเทศจีน และความร่วมมือจากประเทศคู่ขัดแย้งกับสหรัฐฯ เช่น รัสเซีย อิหร่าน และ เกาหลีเหนือ เพื่อต่อต้าน สหรัฐฯเป็นหลัก โดยเป็นการรวมกลุ่มอย่างไม่เหนียวแน่น

 

ฉากทัศน์ที่ 2 Fragmented World โลกแบ่งเป็นหลายขั้วอำนาจ

เป็นการจับกลุ่มของประเทศต่าง ๆ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันในแต่ละด้าน โดยไม่ยึดอุดมการณ์ทางการเมือง ทำให้การดำเนินความสัมพันธ์เป็นแบบทั้งแข่งขัน และร่วมมือควบคู่กัน ประเทศที่มีศักยภาพสูงจับกลุ่มกันเพื่อเพิ่มพูนกําลังอำนาจ จนสามารถต่อรอง และคานอิทธิพลกับประเทศมหาอำนาจได้

กลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคมีบทบาทมากขึ้น ในการดูแลผลประโยชน์ในภูมิภาค เกิดกลุ่มความร่วมมือขนาดเล็กมากกว่า จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ ด้านประเทศมหาอำนาจ แม้มีบทบาทนำ แต่ไม่สามารถกำหนดทิศทาง และวางระเบียบระหว่างประเทศอย่างเบ็ดเสร็จได้ในทุกเรื่อง

ฉากทัศน์ที่ 3 Global Condominium of Power โลกประกอบด้วย ตัวแสดงหลากหลาย

ผู้ที่มีบทบาท และอิทธิพลต่อโลก มีความแตกต่างลดหลั่นกันไป ทั้งที่เป็นรัฐ และไม่ใช่รัฐ เช่น สหรัฐฯ เป็นขั้วอำนาจหลักทางทหาร ,จีน เป็นขั้วอำนาจหลักทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ส่วนบริษัทเอกชนข้ามชาติ และบริษัทเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น

ระบบระหว่างประเทศเกิดการถ่วงดุลอำนาจ (balance of power) มีกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น บราซิล เม็กซิโก อินโดนีเซีย และตุรกี เกิดการคานอิทธิพลและมีปฏิสัมพันธ์กัน อย่างซับซ้อนทั้งในลักษณะการแข่งขัน และร่วมมือบนพื้นฐานของผลประโยชน์ ทำให้ไม่มีประเทศ หรือองค์กรมีอำนาจผูกขาดการชี้นำทิศทางโลกแบบเบ็ดเสร็จ มีการเปิดพื้นที่ ให้กับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมากขึ้น

 

บทบาทของต่างชาติต่อไทย

ภาคเหนือ 

ประเทศสหรัฐฯ และประเทศจีน ต่างแข่งขันด้านอิทธิพลมากขึ้น และเกี่ยวพันกับสถานการณ์ในเมียนมา อาจมีการแทรกแซงหน่วยงานระดับภูมิภาค และท้องถิ่น โดยสหรัฐฯจะมีบทบาทนำด้านความมั่นคง ในขณะที่จีนจะมีบทบาทนำด้าน เศรษฐกิจและวัฒนธรรม 

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เกิดการแข่งขันในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดย สหรัฐฯ อาจมีการจัดตั้งสถานที่ด้านความมั่นคง และสนับสนุนภาคประชาสังคม ในขณะที่โครงการเศรษฐกิจของจีนตามแนวชายแดน มีการขยายตัวมากขึ้น

 

ภาคกลาง

ขั้วอำนาจปรับตัวตามแนวโน้มของโลก กลุ่มคนไทยมีการแบ่งแยกความคิดทางการเมือง แบ่งเป็นฝ่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐฯ และฝ่ายอำนาจนิยมนำโดยจีน

 

ภาคใต้

ต่างประเทศมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ด้านภาครัฐเน้นลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่ต่างชาติสนใจ เช่น Land Bridge ,คลองไทย รวมถึงการกำหนดมาตรฐานด้านประมง

 

ชายแดนภาคใต้

ประเทศตะวันตกเข้ามาแสดงบทบาทผ่าน NGOs ด้านประเทศตะวันออกกลางมุ่งเข้ามาแข่งขันด้าน Soft Power