ใน การแถลงนโยบายประจำปี ต่อรัฐสภาในวันนี้ (21 ก.พ.) ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ให้คำมั่นว่ารัสเซียจะทำ สงครามในยูเครน ที่ดำเนินมาจนจะครบรอบ 1 ปีในวันที่ 24 ก.พ.ที่จะถึงนี้ต่อไป โดยรัสเซียมองว่า ความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่นำโดยสหรัฐอเมริกา เป็นการกระพือเปลวไฟแห่งความขัดแย้ง
ปธน.ปูตินกล่าวว่า สหรัฐและนาโตมีความเชื่อผิดๆ ว่าจะสามารถเอาชนะรัสเซียได้ในการเผชิญหน้าระดับโลก เขาขอเตือนชาติตะวันตกให้ระวังตัวไว้ พร้อมกันนี้ ผู้นำรัสเซียยังแสวงหาความชอบธรรมในการทำสงครามครั้งนี้ ด้วยการกล่าวว่า รัสเซียถูกบีบให้ทำ และเขาเองก็เข้าใจดีถึงความเจ็บปวดของครอบครัวผู้ตกเป็นเหยื่อในสมรภูมิรบ
"ชาวยูเครนได้ตกเป็นตัวประกันของระบอบปกครองของรัฐบาลตัวเอง รวมทั้งผู้มีอำนาจจากชาติตะวันตก ที่ยึดครองประเทศนี้อย่างได้ผลทั้งในทางการเมือง การทหาร และทางเศรษฐกิจ"
ปูตินกล่าว และว่า “พวกเขาตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงความขัดแย้งในพื้นที่สู่การเผชิญหน้าระดับโลก นี่คือสิ่งที่เราเข้าใจทั้งหมด และเราจะตอบสนองตามนั้น เพราะในกรณีนี้ เรากำลังพูดถึงการดำรงอยู่ของประเทศเรา”
“แต่การจะเอาชนะรัสเซียเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ รัสเซียจะไม่ยอมให้ชาติตะวันตกแบ่งแยกสังคมของเรา” ปธน.ปูตินประกาศกร้าว และอ้างว่า ชาวรัสเซียส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนสงคราม
สื่อต่างประเทศรายงานว่า ในระหว่างที่ปธน.ปูตินพูดถึง การผนวกรวม 4 แคว้นของยูเครนเป็นหนึ่งเดียวกับรัสเซียเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) สมาชิกรัฐสภาซึ่งรวมถึงสมาชิกจากสภาสหพันธ์หรือวุฒิสภา และสภาดูมาหรือสภาผู้แทนราษฎร ต่างยืนขึ้นปรบมือเสียงดังกึกก้องภายในที่ประชุมซึ่งอยู่ห่างจากทำเนียบเครมลินไปเพียงไม่กี่ก้าว
ปธน.ปูตินยังได้ขอให้ผู้ร่วมฟังถ้อยแถลงที่ประกอบด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติ ทหาร หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ และผู้นำนักธุรกิจ ลุกขึ้นยืนเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ พร้อมกันนี้ ผู้นำรัสเซียยังให้สัญญาว่าจะจัดตั้งกองทุนพิเศษเพื่อเยียวยาครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิตด้วย
งดเข้าร่วมสนธิสัญญา “นิว สตาร์ท”
ปธน.ปูตินยังได้ประกาศก่อนปิดท้ายการแถลงนโยบายประจำปีครั้งนี้ว่า รัสเซียกำลังจะระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญา “นิว สตาร์ท” กับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นข้อตกลงที่จำกัดคลังอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ
“ในเรื่องนี้ ผมถูกบังคับให้ต้องประกาศในวันนี้ว่า รัสเซียจะระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญาอาวุธเชิงรุกทางยุทธศาสตร์”
สำหรับสนธิสัญญานิว สตาร์ตนั้น ได้มีการลงนามระหว่างสหรัฐแและรัสเซียที่กรุงปราก สาธารณรัฐเช็ก ในปี 2553 และมีผลบังคับใช้ในปี 2554 หลังจากนั้นมีการขยายเวลาการบังคับใช้ในปี 2564 ซึ่งมีผลเป็นเวลา 5 ปี หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ
ภายใต้สนธิสัญญานี้ได้มีการจำกัดการมีหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ในครอบครองที่สหรัฐและรัสเซียจะสามารถนำมาติดตั้งได้