G20 แตกคอประเด็นรัสเซีย-ยูเครน หวั่นปิดประชุมไร้แถลงการณ์ร่วม

25 ก.พ. 2566 | 08:49 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2566 | 09:07 น.

การประชุมกลุ่ม G20 ที่อินเดียใกล้ปิดฉาก แต่ความเห็นต่างของชาติสมาชิกกรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าการประชุมครั้งนี้จะไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม

 

บรรดา รัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G20 ยังไม่สามารถบรรลุ “ฉันทามติ” เกี่ยวกับ สงครามในยูเครน และมีแนวโน้มที่จะยุติการประชุมที่อินเดียในวันนี้ (25 ก.พ.) โดย ไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม แต่อย่างใด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงแหล่งข่าวที่เป็นเจ้าหน้าที่ใกล้ชิดในการประชุมว่า สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรในกลุ่ม G7 ได้ยืนกรานเรียกร้องให้ออกแถลงการณ์ “ประณามรัสเซียอย่างเต็มที่” สำหรับการรุกรานยูเครน แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกคัดค้านโดยผู้แทนของรัสเซียและจีน

รัสเซียซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่ม G20 ได้อ้างถึงการกระทำในยูเครนว่าเป็น "ปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร" และหลีกเลี่ยงการเรียกว่าเป็น “การรุกราน” หรือ “สงคราม”

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ G20 เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า อินเดียซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมก็กำลังกดดันให้ที่ประชุมหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "สงคราม" ในแถลงการณ์ใด ๆ

การประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G20 ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย

อินเดีย ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม G20 ในปัจจุบัน ยังคงแสดงท่าทีเป็นกลางต่อสงคราม โดยปฏิเสธที่จะกล่าวโทษรัสเซียสำหรับการรุกรานยูเครน ไม่เพียงเท่านั้น อินเดียยังพยายามหาทางออกทางการทูต และเพิ่มปริมาณการซื้อน้ำมันจากรัสเซียเป็นอย่างมาก

นายบรูโน เลอ แมร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของฝรั่งเศสกล่าวว่า ไม่มีทางที่กลุ่มจะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงการระบุในแถลงการณ์ร่วมที่ตกลงกันไว้ในการประชุมสุดยอด G20 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซียเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว (2565) ว่า "สมาชิกส่วนใหญ่ประณามสงครามในยูเครนอย่างรุนแรง" แต่ก็ยอมรับว่าบางประเทศมองความขัดแย้งดังกล่าวแตกต่างกันไป

นายเลอ แมร์กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ (24 ก.พ.) ว่า G20 ต้องการใช้ภาษาเดียวกัน หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่ต้องลงนามในแถลงการณ์ฉบับสุดท้าย

ขณะเดียวกัน นายคริสเตียน ลินด์เนอร์ รัฐมนตรีคลังเยอรมนี กล่าวนอกรอบการประชุมว่า กลุ่ม G20 จะต้องไม่คล้อยตามคำวิจารณ์ของรัสเซียก่อนหน้านี้ "เรา (G20) ต้องการความชัดเจนอย่างแท้จริง และนี่คือสงครามที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย" เขากล่าว

อินเดียเป็นเจ้าภาพจัดประชุม G20 ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ G20 ประกอบด้วย 19 ประเทศและสหภาพยุโรป (อียู) โดย 19 ประเทศนั้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน เยอรมนี ฝรั่งเศส อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

สหรัฐเตรียมจัดเจรจากลุ่มประเทศภาคี 4 ฝ่าย สัปดาห์หน้า

ขณะเห็นได้ชัดว่า “จีน” เป็นพันธมิตรที่แข็งขันของรัสเซีย หลังจากที่สหรัฐและชาติพันธมิตรได้ยืนกรานเรียกร้องให้ออกแถลงการณ์ประณามรัสเซียอย่างเต็มที่ในกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนมาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว แต่ข้อเสนอดังกล่าวก็ถูกคัดค้านโดยจีน สหรัฐจึงมีแผนจัดการเจรจาในสัปดาห์หน้า นำโดยนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กับรมว.ต่างประเทศของออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับจีน

นายโดนัลด์ ลู ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการเอเชียใต้และเอเชียกลางของสหรัฐ เปิดเผยว่า ตัวแทน 4 ชาติของกลุ่ม Quad ซึ่งประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น นั้น จะประชุมกันในวันที่ 3 มี.ค.2566 นอกรอบการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G20 ที่กรุงนิวเดลี

ทั้งนี้ กลุ่ม Quad เป็นกลุ่มพันธมิตรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อถ่วงดุลอำนาจและสกัดกั้นการดำเนินการที่ก้าวร้าวของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

การเจรจาดังกล่าวจะจัดขึ้นหลังจากนายบลิงเคนได้พบปะกับนายหวัง อี้ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการกรมการเมืองแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการต่างประเทศแห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งถือเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดด้านการต่างประเทศของจีน

บุคคลทั้งสองได้พบปะกันที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนีเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยทั้งคู่ยังมีท่าทีขัดแย้ง เกี่ยวกับกรณีบอลลูนสอดแนม และขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่มเดินหน้าเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว

ดังนั้น ต้นเดือนมีนาคม จะยังคงเป็นช่วงเวลาที่มีการเผชิญหน้าอย่างเข้มข้นด้านการเมืองระหว่างประเทศ รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม Quad ทั้ง 4 คนยังมีกำหนดเข้าร่วมในการประชุม Raisina Dialogue ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีในอินเดียเกี่ยวกับภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อหารือเกี่ยวกับความสำคัญของกลุ่ม Quad ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกด้วย

 

ข้อมูลอ้างอิง