ครบรอบ 1 ปี สงครามรัสเซีย-ยูเครน เปลี่ยนโลก

24 ก.พ. 2566 | 04:33 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2566 | 06:59 น.

รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 นับจนวันนี้เหตุการณ์ผ่านพ้นมา 1 ปีเต็ม ภาวะสงครามยังคงดำเนินอยู่ ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก

 

วันนี้ ครบรอบ 1 ปีสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังจากที่ รัสเซีย ได้เปิดฉาก "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" รุกราน ยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2565 นอกจากความสูญเสียทั้งทางทหารและพลเรือน ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้ โลกเปลี่ยนแปลง สามารถสรุปได้ 5 ประการ ดังนี้

1) การกลับมาของสงครามยุโรป
สงครามที่เกิดขึ้นในยุโรปทำให้หลายประเทศต้องกลับมาใส่ใจกองทัพของตนเอง หลังจากที่จำกัดงบประมาณด้านกลาโหมมาหลายปี

ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการทหารของยุโรปต่างเชื่อว่าจำเป็นต้องใช้ปืน รถถัง และกระสุนมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน นักวิเคราะห์หลายรายยังเชื่อว่า การสงครามยุคใหม่จะต้องใช้เครื่องมือเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น โดรน หรืออากาศยานไร้คนขับ มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่โดรนและดาวเทียมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสู้รบ แต่กลายเป็นว่าสงครามนั้นจำเป็นต้องใช้ยุทโธปกรณ์อย่างที่เคยใช้กันมาในอดีตอยู่ดี เช่น รถถัง และเครื่องบิน 

ความสูญเสียเกิดขึ้นทั้งด้านทหารและพลเรือน นายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เคยกล่าวไว้ว่า “แนวคิดเก่า ๆ ของการสู้รบด้วยรถถังขนาดใหญ่ .. มันตกยุคไปแล้ว”

ตอนนี้ เยอรมนีได้ส่งรถถังและยุทโธปกรณ์ให้กับยูเครน ขณะที่อังกฤษกำลังพิจารณาแผนการแบบเดียวกัน ด้านสหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ก็เพิ่มการผลิตอาวุธและเพิ่มงบประมาณด้านการทหารมากขึ้น

แพทริก บิวรี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจากมหาวิทยาลัยบาธ (University of Bath) ในอังกฤษ ให้ความเห็นว่า “อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง แสดงให้เห็นในยูเครนแล้วว่า การสงครามแบบดั้งเดิม ... ได้กลับมาแล้ว”

2) จุดวัดใจพันธมิตรทั่วโลก

ก่อนสงครามยูเครนจะเริ่มขึ้น ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย คิดว่าการรุกรานยูเครนจะสั่นสะเทือนองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation) หรือ ดนาโต

แต่เอาเข้าจริง พันธมิตรด้านการทหารนี้กลับดูแข็งแกร่งกว่าแต่ก่อน ยิ่งไปกว่านั้น สวีเดนและฟินแลนด์ยังเผยจุดยืนชัดเจนว่า แผนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของนาโตอีกด้วย

ทั้งนี้ นาโตและสหภาพยุโรป (อียู) ดูเหมือนจะเป็นเอกภาพกันมาเป็นเวลาหนึ่งปีแล้วในเรื่องเกี่ยวกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่คำถามต่อไปก็คือทุกประเทศที่เกี่ยวข้องจะสามารถร่วมมือกันได้ในอีกหลายปีต่อจากนี้หรือไม่

นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต กล่าวว่า รัสเซียกำลังวางแผนสำหรับการทำสงครามอันยาวนาน แต่นาโตเอง ก็พร้อมสำหรับเรื่องนี้เช่นกัน

"การสงครามแบบดั้งเดิม ... ได้กลับมาแล้ว"

3) "ม่านเหล็ก"ผืนใหม่
การแบ่งแยกระหว่างยุโรปตะวันตกกับประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเคยเป็นที่รู้จักในชื่อ “ม่านเหล็ก” (Iron Curtain) หลังการทำลายกำแพงเบอร์ลินและการเปลี่ยนแปลงที่ประชาธิปไตยนำพาเข้ามาสู่ยุโรปตะวันออก ผู้คนต่างกล่าวว่า ขณะนี้ ม่านเหล็กได้คลี่ลงมาปกคลุมอีกครั้งแล้ว

ภาคธุรกิจจากประเทศตะวันตกที่รุ่งเรืองเฟื่องฟูในประเทศรัสเซียมาเป็นเวลา 30 กว่าปีมานี้ ได้ยุติการดำเนินกิจการและย้ายออกจากรัสเซียไปหลายรายแล้ว อาทิ อิเกีย แมคโดนัลด์ และสตาร์บัคส์ ที่ไม่ได้ดำเนินกิจการในรัสเซียแล้ว

อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็ไม่ได้โดดเดี่ยวโดยสิ้นเชิง ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้หันไปกระชับสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆแทน เช่น จีน อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ซึ่งถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาในหลายยุคสมัย รัสเซียใช้โดรนที่ผลิตจากอิหร่าน และรัสเซียยังมีอิทธิพลในตะวันออกกลางและแอฟริกา ขณะที่บางประเทศ อย่างเช่น อินเดีย กำลังอยู่ระหว่างการเลือกฝั่งว่าจะยืนอยู่เคียงข้างฝ่ายใดในสงครามความขัดแย้งนี้

เทรซีย์ เจอร์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งและความมั่นคงจากคิงส์ คอลเลจ (Kings College) กรุงลอนดอน กล่าวว่า สงครามได้สร้างระยะห่างระหว่างประเทศที่สนับสนุนยูเครน กับประเทศที่อยู่ข้างรัสเซียและจีน ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

4) เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนและเปลี่ยนแปลง
ตลาดอาหารในแอฟริกาปราศจากธัญพืชและน้ำมันพืช และครัวเรือนในยุโรปก็ต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บเนื่องจากภาวะสงครามในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของบรรดาชาติตะวันตก

ทั้งนี้ ก่อนที่สงครามจะปะทุขึ้น ธัญพืชและน้ำมันพืชที่ส่งไปยังประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกามาจากรัสเซียและยูเครน ก๊าซหุงต้มและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ส่วนใหญ่ในประเทศยุโรปก็มาจากรัสเซีย ปริมาณอาหารและเชื้อเพลิงที่ลดลงและราคาที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้ ณ ขณะนี้ หลายประเทศจำเป็นต้องพิจารณาหาหนทางในการจัดซื้ออาหารและพลังงานจากแหล่งใหม่ๆ 

ในช่วงที่สงครามคลี่คลาย เรือขนส่งธัญพืชได้กลับมาเดินเรือออกจากท่ายูเครนอีกครั้ง และราคาสินค้าเกษตรก็เริ่มปรับลดลงมา แต่จากมุมมองของเจอร์แมน เขาเห็นว่า สงครามนี้ได้แสดงให้เห็นถึง “ความเปราะบาง” ของโลกที่มีความเชื่อมโยงกันเช่นนี้

สำหรับผลกระทบในระยะสั้น หลายประเทศในยุโรปได้กลับมาพึ่งพาพลังงานถ่านหิน ที่เคยถูกชิงชังว่าเป็นพลังงานสกปรก กันอีกครั้งแล้ว แต่ในระยะยาว การสู้รบอาจทำให้หลายประเทศทั่วโลกให้ความสนใจกับพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency – IEA) ระบุว่า จะมีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของพลังงานทางเลือกในอีก 5 ปีข้างหน้า

ปธน.ปูตินยังคงเดินหน้าทำสงครามต่อไป โดยอ้างสหรัฐและชาติตะวันตกเป็นฝ่ายกระพือไฟสงคราม

5) ช่วงเวลาที่ไร้เสถียรภาพ
ตอนนี้ผู้คนทั่วโลกรับรู้ว่าพวกเขากำหนดชะตาอนาคตของตนเองได้ไม่มากนัก อย่างเช่น ผู้คน 8 ล้านคนที่ต้องอพยพจากบ้านเกิดในยูเครน ซึ่งเมื่อ 13 เดือนก่อนนั้นพวกเขาไม่เคยคาดคิดว่าชีวิตจะพลิกผันได้ขนาดนี้

นอกเหนือจากยูเครนและรัสเซีย สงครามได้ทำให้ผู้คนที่ติดตามข่าวสารความขัดแย้งนี้รู้สึกกังวลถึงความปลอดภัยของพวกเขาด้วยเช่นกัน มีการสู้รบใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองซาปอริซห์เชีย สร้างความกังวลถึงอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้น และปธน.ปูตินเอง ก็ได้พูดถึงความเป็นไปได้ในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามครั้งนี้

แพทริเซีย ลูอิส ผู้อำนวยการฝ่ายความมั่นคงจาก Chatham House ศูนย์วิเคราะห์ด้านการเมืองในกรุงลอนดอน ให้ทัศนะด้วยว่า ภัยคุกคามด้านนิวเคลียร์ได้สร้าง “ความโกรธเคืองมากกว่าหวาดกลัว” ให้กับบางคน

ยิ่งผู้นำรัสเซียกล่าวในการแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภาช่วงสัปดาห์นี้ว่า รัสเซียได้ระงับการเข้าร่วมในสนธิสัญญานิว สตาร์ท (New START treaty) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาฉบับสุดท้ายระหว่างสหรัฐกับรัสเซียที่มีเป้าหมายร่วมกันควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ของสองประเทศแล้ว ความรู้สึกหวั่นไหวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของสงครามนิวเคลียร์ก็ได้หวนกลับมาอีกครั้ง 

ที่มา: เอพี/วีโอเอ