สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 ว่า นายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรีของอิตาลี (ดำรงตำแหน่ง 3 สมัย คือ เดือนพ.ค.2537 ถึงม.ค. 2538, มิ.ย. 2544 ถึงพ.ค. 2549 และพ.ค.2551 ถึงพ.ย. 2554) ถึงแก่อสัญกรรมแล้วอย่างสงบ ด้วย โรคมะเร็งเม็ดเลือด โดยแบร์ลุสโคนีวัย 86 ปี เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในมิลานตั้งแต่วันศุกร์ (9 มิ.ย.) เพื่อรับการตรวจเพิ่มเติมด้าน มะเร็งเม็ดเลือดขาว เขาเพิ่งใช้เวลานาน 6 สัปดาห์ในโรงพยาบาลดังกล่าว ก่อนที่แพทย์จะเปิดเผยว่าเขาเป็นมะเร็งเม็ดเลือดชนิดหายาก
ในช่วงปีหลัง ๆ แบร์ลุสโคนีเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลบ่อยครั้ง ตั้งแต่การผ่าตัดหัวใจในปี 2559 ไปจนถึงการรักษาตัวจากโรคโควิด-19 ในปี 2563 แม้จะได้รับเลือกเข้าสู่วุฒิสภาอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว (2565) เขาก็ไม่ค่อยปรากฏตัวในที่สาธารณะแล้วในระยะหลังเนื่องจากปัญหาด้านสุขภาพ
จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีหญิงคนปัจจุบันของอิตาลีกล่าวไว้อาลัยต่อการจากไปของแบร์ลุสโคนีว่า เขาคือยอดนักสู้ที่อยู่เหนือนักสู้ทุกคน "เขาเป็นคนที่ไม่กลัวการปกป้องความเชื่อมั่นของตัวเอง และนั่นคือความกล้าหาญ และความมุ่งมั่นที่ทำให้เขากลายเป็นเอกบุรุษที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอิตาลี"
ร่างไร้ลมหายใจของแบร์ลุสโคนีถูกเคลื่อนย้ายจากโรงพยาบาลไปยัง “วิลลาซานมาร์ติโน” ซึ่งเป็นบ้านพักของเขาใกล้เมืองมิลาน โดยมีชาวอิตาลีจำนวนมากร่วมไว้อาลัยด้วยการวางดอกไม้และบัตรกระดาษข้อความว่า "เราจะคิดถึงคุณ" ที่ด้านนอกบ้านหลังดังกล่าว
พิธีศพของเขาจะจัดขึ้นในวันพุธ (14 มิ.ย.ตามเวลาท้องถิ่น) ที่มหาวิหารดูโอโมในเมืองมิลาน แม้ยังไม่มีการประกาศรายละเอียดงานศพ แต่แบร์ลุสโคนีได้สร้างสุสานหินอ่อนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสุสานฟาโรห์ไว้ที่วิลล่าของเขาในเมืองอาร์โคเร ใกล้เมืองมิลาน เพื่อเป็นที่พำนักสุดท้ายของครอบครัวและเพื่อน ๆ ของเขาเมื่อเสียชีวิตลง
ฉากชีวิตที่เต็มไปด้วยสีสัน
ก่อนถึงแก่อสัญกรรม ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ยังคงกุมบังเหียน พรรคฟอร์ซาอิตาเลีย ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นพรรคฝ่ายขวาในรัฐบาลผสมชุดปัจจุบัน
แบร์ลุสโคนีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีถึง 3 สมัยในช่วงระหว่างปี 2537-2554 นับเป็นระยะเวลารวมกัน 9 ปี ด้วยคำมั่นสัญญาว่า เขาจะเดินหน้าสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ แต่ในความเป็นจริง ที่สุดแล้วเขาก็ถูกบีบออกจากตำแหน่งเมื่อวิกฤตหนี้เข้าครอบงำอิตาลี
แบร์ลุสโคนีเป็นผู้นำที่มีทั้งคนรักและเกลียดได้อย่างไม่น่าเชื่อ ชื่อเสียงของเขามีทั้งแง่บวกและแง่ลบ ทั้งนี้ความสนใจและอิทธิพลของแบร์ลุสโคนีขยายไปไกลยิ่งกว่าแวดวงการเมือง เพราะก่อนที่เขาจะก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองนั้น เขามาจากแวดวงธุรกิจในฐานะนักธุรกิจมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประกันภัยและไฟแนนซ์ โดยเฉพาะในแวดวงสื่อทั้งแวดวงโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์
เครือธุรกิจ "ฟินอินเวสต์" ซึ่งดูแลธุรกิจสถานีโทรทัศน์ที่ครอบคลุมทั่วทั้งยุโรปของเขา ได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่อันดับสองของประเทศอิตาลี
นอกจากนี้ เขายังเป็นเจ้าของและเป็นอดีตประธานสโมสรฟุตบอลเอซี มิลาน เนื่องจากความคลั่งไคล้ในกีฬา แต่แน่นอนว่า สิ่งที่มักจะตามมาพร้อมกับเงินทองและชื่อเสียง ก็คือเรื่องฉาวคาวๆ เกี่ยวกับผู้หญิงและเรื่องราวทางเพศที่ทำให้แบร์ลุสโคนีตกเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง แม้กระทั่งในช่วงขวบปีสุดท้ายของชีวิต
โดยบุคลิกภาพแล้ว แบร์ลุสโคนีเป็นคนที่รุ่มรวยเสน่ห์ ตลกขบขัน และเข้าใจสิ่งที่คนอื่นต้องการเป็นอย่างดี เขาใช้สื่อในการสร้างภาพของตัวเองในฐานะชายผู้แข็งแกร่ง จนเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา นำไปใช้ในเวลาต่อมา
ปิดฉากชีวิต เหลือไว้เพียงความทรงจำ
รัฐบาลอิตาลีประกาศให้วันพุธนี้ (14 มิ.ย.) เป็นวันไว้ทุกข์แห่งชาติ ซึ่งจะมีการจัดงานศพของนายซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างสมเกียรติ นอกจากนี้ ธงชาติอิตาลีและธงยุโรปทั้งหมดตามอาคารสาธารณะจะถูกลดระดับลงครึ่งเสาทั่วประเทศตั้งแต่วันจันทร์ (12 มิ.ย.) เป็นต้นไป
บรรดาผู้นำประเทศต่างๆ รวมทั้งรัสเซีย ฮังการี และอิสราเอล ต่างออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการจากไปของอดีตนายกฯซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี โดยยกย่องเขาในฐานะที่เป็นทั้ง “นักสู้” และ “เพื่อนแท้”