สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานข่าว โศกนาฏกรรมเรือไททันระเบิดใต้น้ำ จากเมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา วันนี้ (23 มิ.ย.) อ้างอิงความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญว่า ที่ระดับน้ำทะเลความดันบรรยากาศอยู่ที่ 14.7 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว แต่เมื่อลึกไปถึงตำแหน่งที่ ซากเรือไททานิค นอนจมอยู่ที่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติคเหนือ หรือที่ระดับความลึกราว 3,800 เมตรนั้น จะมี แรงดันน้ำ มากกว่าระดับปกติถึง 400 เท่า หรือเกือบ 6,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
จากเหตุที่พบซากเรือดำน้ำไททันกระจัดกระจายเป็นชิ้น ๆ ใกล้บริเวณที่ซากเรือยักษ์ไททานิคจมอยู่ คาดว่าจะเกิดการระเบิดภายในที่เกิดจากข้อบกพร่องในตัวเรือหรือด้วยเหตุผลอื่น ซึ่งในสถานการณ์เช่นนั้น เรือดำน้ำจะยุบตัวในเสี้ยววินาที เนื่องจากถูกแรงดันน้ำมหาศาลภายนอกห้องผู้โดยสาร กดอัดเข้ากับตัวเรือและเกิดการระเบิด ซึ่งผู้ที่อยู่ในห้องปรับความดันอาจเสียชีวิตได้ในทันที
ศาสตราจารย์ รอเดอริก สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม จากมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าวให้ความเห็นว่า อุบัติเหตุดังกล่าวน่าจะเกิดจาก “ปัญหาของตัวเรือดำน้ำที่รักษาความดัน” กระนั้น เศษชิ้นส่วนของเรือจะต้องถูกเก็บกู้เพื่อดำเนินการตรวจสอบอย่างเต็มรูปแบบต่อไป แม้ว่าความรุนแรงของการระเบิดจะทำให้การระบุลำดับเหตุการณ์และสาเหตุที่แท้จริง เป็นเรื่องที่ยากมากก็ตาม
ทั้งนี้ เรือดำน้ำไททัน ซึ่งสร้างโดย บริษัท โอเชียนเกต เอ็กซ์พีดิชันส์ ได้รับการออกแบบให้ทนรับแรงดันน้ำที่ระดับความลึกของซากเรือไททานิค (3,800 เมตร) แต่มาตรการด้านความปลอดภัยของเรือลำนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถาม เนื่องจากก่อนหน้านี้ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับนายเดวิด ลอคริดจ์ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางทะเลของบริษัท โอเชียนเกตฯ ซึ่งถูกไล่ออกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว (ปี 2561) เขาเคยออกมากล่าวเตือนเกี่ยวกับตัวเรือที่สร้างจากวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ว่า “เป็นการทดลอง ที่ยังไม่ได้รับการทดสอบ” และขอให้บริษัทตรวจสอบความปลอดภัยของเรือดำน้ำเพิ่มเติม
แต่แทนที่บริษัทจะทำตามคำขอของนายลอคริดจ์ บริษัทโอเชียนเกตฯ ได้ฟ้องร้องเขา ฐานที่ออกมาเปิดเผยความลับของบริษัท ขณะที่นายลอคริดจ์ปฏิเสธข้อกล่าวหา และอ้างว่าคดีของโอเชียนเกตฯ เป็นความพยายามที่จะกีดกัน ผู้แจ้งเบาะแสไม่ให้แจ้งปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพและความกังวลด้านความปลอดภัยที่คุกคามความปลอดภัยของผู้โดยสารผู้บริสุทธิ์
อย่างไรก็ตาม ต่อมาทั้งสองฝ่ายยอมตกลงคดีความกันได้
นอกจากนี้ โอเชียนเกตฯ ยังเคยได้รับจดหมายจากนายวิลล์ โคห์เน็น ประธานคณะกรรมการตรวจสอบเรือดำน้ำแบบมีคนขับของสมาคมเทคโนโลยีทางทะเล ลงวันที่ 27 มี.ค. 2561 แสดงความกังวลโดยตรงถึงนายสต็อกตัน รัช ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโอเชียนเกตฯ (ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เรือไททันระเบิด)
เนื้อหาในจดหมายระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับเรือดำน้ำไททัน เนื่องจากปัญหาไม่ได้เกิดจากข้อบกพร่องด้านการออกแบบเพียงข้อเดียว อย่างไรก็ตาม เป็นอีกครั้งที่ผู้บริหารโอเชียนเกตฯ เลือกที่จะไม่ดำเนินการตามกระบวนการรับรองที่เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมสำหรับการออกแบบ การผลิต และการทดสอบเรือดำน้ำ
ทั้งนี้ เมื่อโศกนาฏกรรมเรือดำน้ำไททันระเบิดใต้น้ำได้รับการยืนยัน นายวิลล์ โคห์เน็น ในนามสมาคมเทคโนโลยีทางทะเล ได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อซีเอ็นเอ็นว่า โอเชียนเกตฯ ไม่ได้ทำตามบรรทัดฐานของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางทะเลมาตั้งแต่แรก เนื่องจากบริษัทปฏิเสธนำเรือไททัน (Titan) เข้ารับการตรวจสอบความปลอดภัยที่เข้มงวดโดยสมัครใจ
พร้อมกันนี้ ยังระบุด้วยว่า ในโลกนี้มีเรือดำน้ำอยู่ 10 ลำ ที่สามารถดำน้ำได้ลึกกว่า 12,000 ฟุต (กว่า 3,658 เมตร) ทุกลำได้รับการรับรอง ยกเว้นเรือดำน้ำไททันของโอเชียนเกตฯ
เรื่องนี้ โอเชียนเกตฯ เคยให้คำอธิบายผ่านบทความที่เผยแพร่เมื่อปี 2019 ชี้แจงว่า สาเหตุที่ไม่นำเรือไททันไปเข้ารับการตรวจสอบจากองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อขอใบรับรองความปลอดภัย เนื่องจากเล็งเห็นว่า การจัดมาตรฐานดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะรับประกันความปลอดภัยได้ เพราะไม่ได้ประเมินปัจจัยที่จะเกิดขึ้นระหว่างการใช้งานจริง
นอกจากนี้ บริษัทยังนำเรือไททันลงสำรวจและนำผู้โดยสารทัวร์ชมซากเรือไททานิคที่จมอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติคมาหลายรอบแล้ว เพียงแต่ในปีนี้ (2023) การนำเรือไททันลงดำชมซากเรือไททานิคที่เกิดโศกนาฏกรรมไม่คาดฝันครั้งล่าสุด ถือเป็นทริปแรกของปี...และเป็นทริปสุดท้ายของเรือไททัน