จิตรกรรมฝาผนังดึกดำบรรพ์ กับการถกเถียงกำเนิด "พิซซ่า"  

29 มิ.ย. 2566 | 18:55 น.
อัพเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2566 | 23:32 น.

เมื่อเร็วๆนี้มีการค้นพบจิตรกรรมฝาผนังที่ “ปอมเปอี” เมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอิตาลี บนผนังมีภาพอาหารกลมๆคล้ายพิซซ่า ทำให้มีผู้สันนิษฐานว่านั่นอาจเป็นบรรพบุรุษของพิซซ่าเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อนก็เป็นได้ หากไม่มีนักโบราณคดีมาตั้งข้อสังเกตหักล้าง 

 

การค้นพบ ภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณ ในบ้านหลังหนึ่งใน เมืองปอมเปอี ที่เคยถูกภูเขาไฟพ่นลาวาถล่มกลบเมืองเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงกันเกี่ยวกับกำเนิดของ “พิซซ่า” อาหารยอดฮิตของ อิตาลี ที่เป็นไปได้ว่าอาจจะย้อนไปได้กว่า 2,000 ปี เพราะในตอนแรกหลังพบภาพ มีผู้สังเกตว่าภาพอาหารทรงกลมๆแบนๆที่เห็นอยู่บนจิตรกรรมฝาผนัง ในลักษณะที่อยู่ถัดจากแก้วไวน์นั้น อาจจะเป็นบรรพบุรุษของพิซซ่าในยุคที่เมืองปอมเปอียังเจริญรุ่งเรือง (เมืองนี้ก่อตั้งในยุคโรมันโบราณราว 700 ปีก่อนคริสตกาล)

อย่างไรก็ตาม ต่อมา กระทรวงวัฒนธรรมอิตาลี ก็ได้ออกมาตั้งข้อสันนิษฐานหักล้างการคาดเดาดังกล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ (27 มิ.ย.) โดยระบุว่า ภาพฝาผนังที่ได้รับการค้นพบล่าสุดบริเวณโถงของบ้านที่มีร้านเบเกอรี่อยู่ติดกันนั้น ในภาพที่เห็นเป็นเหมือนขนมอบทรงแบน ๆ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นขนมปังแบน หรือ flat bread ที่ใช้รับประทานคู่กับผลไม้อย่างทับทิม หรือ อินทผาลัม หรือจะปรุงด้วยเครื่องเทศและซอสเพสโต้ ไม่ควรจัดว่าเป็นพิซซ่าในเชิงเทคนิค เพราะขาดวัตถุดิบสุดคลาสสิกอย่างเช่น มะเขือเทศ และชีสมอสซาเรลลา แต่กระนั้น สิ่งที่พบในภาพจิตรกรรมเมืองปอมเปอี ก็อาจถือว่าเป็น “ญาติห่าง ๆ” ของเมนูสมัยใหม่ก็เป็นได้

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ถูกค้นพบในบ้านหลังหนึ่ง ในเมืองปอมเปอี  (ภาพจาก Pompeii - Parco Archeologico

นักโบราณคดีอธิบายว่า ที่กล่าวเช่นนั้นเนื่องจากมะเขือเทศถูกนำจากอเมริกาไปยังยุโรปเมื่อ 2-3 ศตวรรษก่อน หรือย้อนหลังไปราว 200-300 ปีเท่านั้น และบางประวัติศาสตร์ยังระบุว่าการค้นพบมอสซาเรลล่าชีสนำไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นเมนู “พิซซ่า” ในเมืองเนเปิลส์ เมื่อทศวรรษที่ 1700 ดังนั้น ในภาพจิตรกรรมโบราณที่เมืองปอมเปอี (ที่มีอายุเก่าแก่กว่านั้นมาก) จึงน่าจะเป็นขนมปังอบฟอคคาเซีย (focaccia) ที่ตกแต่งหน้าด้วยผลไม้ เช่นทับทิมและอินทผาลัม โรยด้วยเครื่องเทศหรือเพสโต้ เสิร์ฟอยู่ในจานเงินและมีจอกไวน์ตั้งอยู่ข้าง

เกเบรียล ซุชตรีเกล ผู้อำนวยการแหล่งโบราณคดีปอมเปอี ให้ความเห็นว่า พิซซ่าถือกำเนิดขึ้นในฐานะอาหารของคนจนทางตอนใต้ของอิตาลี ที่ต่อมาได้แพร่กระจายออกไปจนชนะใจผู้คนทั่วโลก และเสิร์ฟตามร้านอาหารติดดาวต่าง ๆ

นักโบราณคดีกล่าวว่า โดยเทคนิคแล้ว อาหารในภาพจิตรกรรมนี้ ไม่น่าจะใช่พิซซ่า (ภาพจาก Pompeii Sites)

ถึงไม่ใช่ ก็ใกล้เคียง 

ทั้งนี้ เมืองปอมเปอี ในอิตาลี เป็นเมืองโบราณที่ถูกทำลาย กลบฝังอยู่ใต้เถ้าถ่านและหินภูเขาไฟหนา 4-6 เมตรจากการระเบิดของภูเขาไฟวิสซูเวียส (Mount Vesuvius) เมื่อค.ศ. 79 เหตุการณ์ครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปราว 15,000 คน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้โครงสร้างส่วนใหญ่ของเมืองปอมเปอีไม่บุบสลายราวถูก "ถนอม" ไว้ด้วยเถ้าภูเขาไฟ ทำให้ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้กลายเป็นโครงสร้างทางโบราณคดีที่สำคัญ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่

ปอมเปอี ตั้งอยู่ไม่ห่างจากเมืองเนเปิลส์ ซึ่งเป็นดินแดนแห่งพิซซายุคใหม่ ที่เรียกกันว่า “พิซซ่าตำรับเนเปิลส์” ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโก

ด้านสมาคมการเกษตรรายใหญ่ที่สุดของอิตาลี "โคลดิเรตตี" (Coldiretti) ให้ความเห็นว่า ทั้งการค้นพบภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณที่เมืองปอมเปอี และผลที่ตามมาคือการถกเถียงกันเกี่ยวกับพิซซ่า นับเป็นโอกาสดีที่ควรนำมาใช้ในการโปรโมตพิซซ่า ว่าถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเป็นอาหารจานด่วนสำหรับคนยากคนจน และผู้ใช้แรงงานเมื่อยุคอดีต ก่อนที่จะกลายมาเป็น “สมบัติของชาติ” ในปัจจุบัน

โดยพิซซ่าครองสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้ด้านอาหารที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในอิตาลี สร้างรายได้รวมเข้าประเทศที่ประมาณ 15,000 ล้านยูโร หรือมากกว่า 5.8 แสนล้านบาท