สื่อมะกันเผยทวิตเตอร์ถูกติ๊กต๊อกเบียดแซงขึ้นตำแหน่ง

09 ก.ค. 2566 | 08:19 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ก.ค. 2566 | 11:27 น.

สื่อมะกันเผยทวิตเตอร์ถูกติ๊กต๊อกเบียดแซงขึ้นตำแหน่ง แพลตฟอร์มข่าวสาร เผยภูมิทัศน์โซเชียลเปลี่ยนไปแล้ว ผลจากการที่อีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ ได้ตัดสินใจผิดพลาดหลายอย่าง

จากกรณีที่แพลตฟอร์มติ๊กต๊อกได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน ติ๊กต๊อก มีผู้ใช้บริการทั่วโลกมากกว่า 884.9 ล้านคน  ส่งผลให้ ติ๊กต๊อก เบียดแซงขึ้นตำแหน่งทวิตเตอร์แล้วในขณะนี้

หนังสือพิมพ์เดอะ วอชิงตัน โพสต์ เผยแพร่บทความว่า ทวิตเตอร์ ได้เสียตำแหน่งแพลตฟอร์มแชร์ข่าวสารและความบินเทิงให้ติ๊กต๊อกไปแล้ว อันเป็นผลจากการที่อีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ ได้ตัดสินใจผิดพลาดหลายอย่าง จนทำให้ทวิตเตอร์เสียผู้ใช้งานไป ไม่นับรวมกรณีที่เมตาเปิดตัวแอปพลิเคชันที่มีฟังก์ชันการใช้งานคล้ายกับทวิตเตอร์มาแข่งอีกด้วย
 

 รายงานข่าวระบุว่า ผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางส่วนได้เลือกเผยแพร่ข่าวสารผ่านทางติ๊กต๊อกแทน เพราะโพสต์บนติ๊กต๊อกแล้วมีผู้เห็นมากกว่า แม้จะต้องเสียเวลาทำคอนเทนต์มากกว่า ไม่เหมือนกับทวิตเตอร์ที่แค่พิมพ์ข้อความสั้น ๆ ก็ใช้ได้

สิ่งที่ดูเหมือนทำให้ทวิตเตอร์เสียผู้ใช้งานไปมากที่สุด น่าจะเป็นกรณีที่ทวิตเตอร์ประกาศจำกัดจำนวนการเข้าชมคอนเทนต์ ซึ่งเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยขณะนั้นนายมัสก์ระบุว่า การจำกัดจำนวนการอ่านข้อความรายวันครั้งนี้เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาเรื่อง "การดึงข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และใช้ต่อยอดทางธุรกิจและการบิดเบือนระบบในระดับสุดขั้ว" แต่นายมัสก์ไม่ได้อธิบายความหมายของคำว่าการบิดเบือนระบบในบริบทนี้

 

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกบรรยายว่าเป็น "มาตรการฉุกเฉินชั่วคราว" แม้ไม่ชัดเจนว่าการดึงข้อมูลที่นายมัสก์เอ่ยถึงในบริบทนี้คืออะไร แต่สำนักข่าวบีบีซีคาดการณ์ว่า นายมัสก์หมายถึงการดึงข้อมูลของบริษัท AI เพื่อนำไปฝึกฝนโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLM) ซึ่งใช้ขับเคลื่อนแชตบอต เช่น แชตจีพีที (ChatGPT) ของโอเพนเอไอ (OpenAI) และบาร์ด (Bard) ของกูเกิล

บริษัท AI จำเป็นต้องเรียนรู้บทสนทนาที่แท้จริงของมนุษย์ผ่านข้อความบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เรดดิท (Reddit) และทวิตเตอร์ แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องการให้บริษัท AI จ่ายเงินเพื่อซื้อข้อมูลเหล่านี้

 นอกจากนี้ อัลกอริทึมของติ๊กต๊อกยังทำงานได้ดีด้วย เพราะแม้จะมีผู้ติดตามน้อย แต่การโพสต์คลิปบนติ๊กต๊อกครั้งแรกก็มีโอกาสได้ยอดวิวหลักล้านได้ หากตรงตามความสนใจของผู้ใช้จริง ๆ จนทำให้ติ๊กต๊อกแซงหน้าทวิตเตอร์ไปแล้วในแง่ของการกระจายข่าวสารและจุดประกายเทรนด์ใหม่ ๆ ในสังคม.