ฮ่องกงออกมาตรการช่วยคนรุ่นใหม่ แก้วิกฤตที่พักอาศัย “แพงเกินเอื้อม”

17 ก.ค. 2566 | 06:45 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ก.ค. 2566 | 06:47 น.

รัฐบาลฮ่องกงกำลังเร่งออกมาตรการแก้ไขปัญหาราคาที่พักและอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งคนรุ่นใหม่ที่เป็นวัยทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว หมดกำลังที่จะครอบครองเป็นเจ้าของ

 

เขตปกครองพิเศษฮ่องกง ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญก้าวหน้าเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย แต่ปัญหาสำคัญที่รัฐบาลกำลังพยายามแก้ไข ก็คือ ราคาที่พักและอสังหาริมทรัพย์ ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบเป็นพิเศษกับ คนหนุ่มสาว ที่อยู่ในวัยกำลังสร้างเนื้อสร้างตัว และยากที่พวกเขาจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของ บ้านพักอาศัยของตัวเอง

แต่เดิมนานมา การย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ถือเป็นก้าวสำคัญในการเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ แต่สำหรับหนุ่มสาวชาวฮ่องกงในยุคปัจจุบันนี้ เรื่องดังกล่าวอาจเป็นได้แค่ความฝันที่ “ใหญ่เกินตัว” เนื่องจากปัจจัยราคาที่พักอาศัยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ราคาอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้การมีบ้านของตัวเองเป็นเรื่องไกลเกินฝันสำหรับคนหนุ่มสาวจำนวนมาก

ยกตัวอย่างกรณีของ “เชลซี ทัง” ย้อนกลับไปเมื่อ 2 เดือนก่อน พนักงานขายประกันวัย 23 ปีคนนี้ เริ่มเข้าพักที่โฮสเทลซึ่งเป็นห้องพักราคาถูกของรัฐบาล ที่ใช้ชื่อโครงการว่า “บีลิฟวิง” (BeLIVING) เปิดให้คนหนุ่มสาวเช่าพักระยะสั้นได้สูงสุดเป็นเวลา 5 ปี ทังยอมพักอาศัยร่วมกับคนอื่นในห้องขนาด 30 ตารางเมตร ที่ไม่มีห้องน้ำส่วนตัว และมีพื้นที่ใช้สอยใหญ่พอจะวางได้แค่เตียงนอน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แลกกับอิสรภาพและการได้แยกออกจากบ้านของพ่อแม่

เธอมองว่าการเข้าพักที่โฮสเทลนี้ เปิดโอกาสให้เธอได้ใช้ชีวิตอยู่กับแฟนหนุ่ม โดยที่ยังสามารถรักษาคุณภาพชีวิตและประหยัดเวลาเดินทาง ขณะเดียวกัน พวกเขายังสามารถเก็บเงินไว้ซื้อห้องของตัวเองในอนาคตได้

ทั้งนี้ ราคาค่าเช่าโฮสเทล ปัจจุบัน อยู่ที่เดือนละ 4,100 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือเกือบ 19,000 บาท ซึ่งถือว่าถูกกว่าห้องเช่าอื่น ๆ ในย่านเดียวกันถึง 30%

โฮสเทลของรัฐราคาย่อมเยาก็จริง แต่ต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น หลายห้องไม่มีห้องน้ำของตัวเอง และต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน

"เดิมเราจะต้องจ่ายประมาณ 1 - 2 แสนดอลลาร์ฮ่องกง สำหรับห้องพักที่มีเครื่องใช้พื้นฐานพวกนี้ เราไม่อยากเลือกทางนั้น เพราะถ้าออกไปเช่าห้องข้างนอกปีนึง ราคาจะพอ ๆ กับการดาวน์บ้านหลังหนึ่ง แต่ไม่ได้อะไรกลับมาเลย" ทังกล่าว

ข้อมูลจากบริษัทวิจัย “เดโมกราเฟีย” ชี้ว่า ฮ่องกงติดอันดับเมืองที่มีราคาที่พักอาศัย ทั้งบ้าน อพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม แพงเกินเอื้อมที่สุดในโลก 13 ปี ติดต่อกัน และปัญหาที่อยู่อาศัยนี้เองที่เป็นสาเหตุนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆอีกมาก

แม้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะมีตัวเลือกจากโครงการที่พักอาศัยที่รัฐอุดหนุน แต่ระยะเวลารอคิวก็ไม่ต่ำกว่า 5 ปี และผู้ที่ได้รับการพิจารณาเป็นอันดับต้น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นครอบครัวใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ฉะนั้น คนหนุ่มสาว โดยเฉพาะคนโสด จึงแทบจะไม่มีโอกาสเลย

มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ

สำหรับโครงการจัดสรรที่พักอาศัยราคาถูกสำหรับกลุ่มคนหนุ่มสาว ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2011 (พ.ศ.2554) โดย ผู้ที่สนใจสมัครเข้าพัก จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ คือ

  • อายุ 18-31 ปี
  • มีรายได้เดือนละไม่ถึง 25,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 115,000 บาท
  • มีทรัพย์สินมูลค่าไม่ถึง 380,000 ดอลลาร์ฮ่องกง จึงจะได้รับเลือกให้เข้าไปสอบสัมภาษณ์
  • ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าพักในโฮสเทลของรัฐแล้ว ยังจะต้องทำกิจกรรมหรืองานการกุศลให้ครบ 200 ชั่วโมง เพื่อรักษาสิทธิในการเข้าพักไว้

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้่เพิ่งจะได้รับความสนใจเมื่อปีที่ผ่านมา (2565) หลังการเยือนฮ่องกงของ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีน ซึ่งจี้ให้รัฐบาลฮ่องกงเร่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่พักอาศัยในหมู่คนรุ่นใหม่ เพราะรัฐบาลปักกิ่งเชื่อว่า นี่น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้คนหนุ่มสาวลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล และเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ในปี 2019

ทั้งนี้ ผู้นำจีนมีวิสัยทัศน์ว่า ถ้าคนหนุ่มสาวมีอนาคต ฮ่องกงก็จะมีอนาคตไปด้วย รัฐบาลต้องทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงแนวโน้มภาพรวมของการพัฒนาในระดับชาติและระดับโลก เพื่อสร้างสำนึกความภาคภูมิใจในชาติและการเป็นเจ้าของ

“เราต้องช่วยคนหนุ่มสาวแก้ปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ ทั้งเรื่องการศึกษา การจ้างงาน การสร้างธุรกิจ และการมีบ้านเป็นของตัวเอง" ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าว

ด้านนายอเล็กซ์ ยุง ประธานสมาพันธ์เยาวชนฮ่องกง ให้ความเห็นว่า ผลประโยชน์และสวัสดิการจากโครงการโฮสเทลจะส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของคนรุ่นใหม่

ในช่วงแรกๆ ฮ่องกงมีโฮสเทลของรัฐแค่เพียง 1 แห่ง รองรับได้ 80 เตียง ซึ่งรัฐบาลรับปากจะเพิ่มจำนวน

ในช่วงแรกๆ ฮ่องกงมีโฮสเทลของรัฐแค่เพียง 1 แห่ง รองรับได้ 80 เตียง ซึ่งรัฐบาลรับปากจะเพิ่มจำนวน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน โดยตั้งเป้าจะแปลงโรงแรมบางแห่งที่มีอยู่ ให้เป็นห้องพัก 3,000 เตียงภายใน 5 ปีข้างหน้า เพิ่มจากโครงการเดิมจำนวน 3,400 ห้อง ซึ่งมีทั้งที่ต้องสร้างใหม่ และพัฒนาจากอาคารขององค์กรไม่แสวงหากำไร

ผลสำรวจจากสมาพันธ์คุ้มครองสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ พบว่า ในเดือน พ.ค.2566 มีผู้สมัครเข้าพักแค่เพียงเล็กน้อย โดยเกือบ 90% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ไม่มีแผนจะสมัคร และส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการเก็บเงินไว้ซื้อที่พักของตัวเองในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครเข้าอยู่ที่โฮสเทล BeLIVING ก็ยังมากกว่าจำนวนเตียงที่มีในอัตราส่วน 5 ต่อ 1

นายไก หมิง ยิบ ศาสตราจารย์ด้านการเคหะและการพัฒนาเมือง จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ให้ความเห็นเป็นบทสรุปว่า โครงการโฮสเทลของรัฐบาลฮ่องกง ยังตอบสนองผู้พักอาศัยได้ในปริมาณจำกัด ซึ่งอาจยิ่งสร้างความไม่พอใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หากรัฐบาลสนใจที่จะแก้ปัญหานี้จริง ๆจังๆ ควรจะไปรื้อแก้ไขปัญหาตั้งแต่โครงสร้างนโยบาย