ประเทศไทย - นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยประกาศเอาไว้ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 จุดประสงค์เพื่อต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก โดยคุณสมบัติและเงื่อนไขในการรับเงินคือ สำหรับคนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และต้องมีบัตรประชาชนเลข 13 หลัก ในส่วนของประชาชนที่มีบัตรสวัสดิการอื่นๆ อาทิ คนชราหรือคนพิการ ก็จะได้รับเงินเต็มจำนวน 10,000 บาทเช่นเดียวกัน
การจ่ายเงินดิจิทัล 10,000 บาทจะเป็นการจ่ายแบบงวดเดียว ไม่มีแบ่งจ่าย และมีเงื่อนไขว่าสามารถใช้จ่ายได้ที่ร้านค้าต่างๆ ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน แต่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ประชาชนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดสามารถนำไปใช้จ่ายครั้งเดียว 10,000 บาท หรือทยอยใช้ก็ได้ โดยจะมีระยะเวลาให้ใช้ภายใน 6 เดือน สินค้าที่สามารถใช้กับเงินดิจิทัล 10,000 บาทได้ จะเป็นสินค้าต่างที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เช่น อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค เครื่องมือประกอบอาชีพ และอื่นๆ ตามร้านค้าในชุมชน แต่ห้ามนำไปใช้กับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอบายมุข
นอกจากรัฐบาลไทยแล้ว ยังมีรัฐบาลในอีกหลายประเทศที่ก็ออกนโยบายเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงออกแคมเปญในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นอกเหนือจากนโยบายเยียวยาช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่นเดียวกัน
ประเทศสิงคโปร์ - นโยบายแจกเงิน 700 ดอลลาร์สสหรัฐ
สิงคโปร์จะมีการแจกเงินช่วยประชาชนกว่า 1.5 ล้านคน จำนวน 1.2 พันล้าน โดยประชาชนจะได้รับเป็นเงินสดสูงสุด 700 ดอลลาร์สสหรัฐ หรือประมาณ 24,500 บาทไทย เพื่อเป็นการช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนตามแผนการที่นายลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้ประกาศในการแถลงงบประมาณเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ในปี 2565 สิงคโปร์ก็มีการแจกเงินช่วยเหลือประชาชนมาแล้ว แต่เป็นการแจก 2 รอบ รอบละ 700 ดอลลาร์สสหรัฐ ส่วนในปี 2566 นี้จะทำการจ่ายเงินช่วยเหลือ 700 ดอลลาร์สสหรัฐเพียงรอบเดียว ซึ่งได้มีการจ่ายให้กับประชาชนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ทางกระทรวงการคลัง MOF (Ministry Of Finance) ของสิงคโปร์มีการระบุเพิ่มเติมว่า ชาวสิงคโปร์ที่อยู่ในช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป ราว 624,000 ราย จะได้รับเงินเพิ่ม 450 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับบัญชีรักษาพยาบาลประเภท MediSave ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ภายใต้แผนกองทุนเงินที่เก็บจากภาษีสินค้าและบริการ หรือ GST (The Goods and Services Tax) โดยกระทรวงการคลังอธิบายว่า การแจกเงินในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนสนับสนุนแบบต่อเนื่อง สำหรับบุคคลที่มีรายได้น้อยไปจนถึงปานกลาง และกลุ่มคนผู้สูงวัย เพื่อช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพต่างๆ
ประเทศเกาหลีใต้ - แจกบัตรกำนัลในเทศกาลชูซ็อก
รัฐบาลเกาหลีใต้วางแผนที่จะอัดฉีดเงินกว่า 67 พันล้านวอน หรือประมาณ 1,700 ล้านบาท เพื่อมอบเป็นบัตรกำนัลให้ประชาชนออกมาใช้จ่ายกันในช่วงวันหยุด 6 วันของเทศกาลปีใหม่เกาหลี หรือชูซ็อก ที่จะมีในสิ้นเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ไปจนถึงวันสถาปนาแห่งชาติในวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ภายใต้แผนที่เปิดเผยในการประชุมที่มีประธานาธิบดี ยูน ซุกยอล เป็นประธาน
รวมถึงบัตรกำนัลที่พักจำนวน 600,000 ใบจะถูกแจกจ่ายไปทั่วประเทศเพื่อตอบสนองต่อการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการเชิงรุกเพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายมากขึ้น โดยจะรัฐบาลจะช่วยอุดหนุนร้านขายของชำที่ขายสินค้าจำเป็นสำหรับการเฉลิมฉลองเทศกาลชูซ็อก
ในส่วนของภาคตลาดและสหกรณ์จากสหพันธ์สหกรณ์การเกษตรแห่งชาติเองก็จะสนับสนุนเงินอุดหนุนด้วยบัตรกำนัลของตัวเอง ซึ่งสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารหลักจะได้รับส่วนลดอยู่ที่ 40-60 เปอร์เซ็นต์
ประเทศญี่ปุ่น - แจกเงินช่วยเหลือเด็ก เดือนละ 5,000 เยน
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในครัวเรือน โดยล่าสุดจะทำการแจกเงินช่วยเหลือเด็กอายุ 0-18 ปี เดือนละ 5,000 เยน หรือประมาณ 1,200 บาท เป็นเวลา 1 ปี ประชาชนจะได้รับเงินสูงสุด 60,000 เยน หรือราวๆ 14,400 บาท สำหรับเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้ที่มีอายุ 18 ปี โดยคนที่ลงทะเบียนในเวลาที่กำหนดจะเริ่มได้รับเงินในเดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนคนที่ลงทะเบียนภายหลังจะได้รับเงินหลังจากนั้น
นอกจากนี้ยังมีเงินช่วยเหลือการศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนโรงเรียนเอกชนในระดับชั้นมัธยมต้น สำหรับครอบครัวที่มีรายได้ไม่ถึง 9.1 ล้านเยน (ประมาณ 2,100,000 บาท) รัฐบาลจะมอบเงินช่วยสูงสุดปีละ 1 แสนเยน (24,000 บาท) โดยให้เริ่มลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าถึงเงินช่วยเหลือประมาณ 20 ล้านคน และคาดจะใช้งบประมาณสำหรับโครงการนี้ประมาณ 2 ล้านล้านเยน
ประเทศจีน - มอบของขวัญแต่งงานเป็นเงินสด 1,000 หยวน
รัฐบาลจีนประกาศว่าหากคู่รักใดที่แต่งงานเป็นครั้งแรก และเจ้าสาวมีอายุ 25 ปี หรือต่ำกว่านั้น จะได้รับของขวัญแต่งงานเป็นเงินสด 1,000 หยวน หรือประมาณ 4,800 บาทไทย ซึ่งการมอบเงินในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นการแต่งงานและเพิ่มประชากรภายในประเทศ เนื่องจากจีนประสบปัญหาอัตราการเกิดลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่ผ่านมา
ทางหน่วยงานระบุว่า การให้ของขวัญแก่คู่แต่งงานใหม่มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการแต่งงาน และการให้กำเนิดบุตรในวัยที่เหมาะสม นอกจากนี้ หากในครอบครัวมีบุตรก็จะได้รับเงินสนับสนุนในด้านอื่นๆ ด้วย อาทิ ค่าดูแล และเงินช่วยเหลือทางการศึกษา
จะเห็นได้ว่าในหลากหลายประเทศก็มีการออกนโยบายเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือประชาชน พร้อมนำเสนอแนวทางในการหนุนให้ประชาชนมีการจับจ่ายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงนโยบายมอบเงินสนับสนุนการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศด้วยเช่นเดียวกัน
แหล่งที่มา : Ministry Of Finance Singapore , Pulse News Korea , REUTERS