การประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ตุลาคม 2566 ที่ China National Convention Center กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน
สำนักข่าวซินหัว สื่อใหญ่ของทางการจีนรายงานว่า นี่คือเวทีการประชุมระดับผู้นำที่เป็นโอกาสสำคัญที่สุดด้านการทูตระหว่างประเทศที่จีนเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในปีนี้ และยังเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีของยุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ที่เป็นดำริของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
งานในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด "High-quality Belt and Road Cooperation: Together for Common Development and Prosperity" มีตัวแทนจากกว่า 140 ประเทศ และกว่า 30 องค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม เพื่อร่วมกันร่าง “พิมพ์เขียว” ใหม่สำหรับโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ BRI ที่มีการยกระดับคุณภาพสูงขึ้น หลังจากที่ผ่านพ้นขั้นเริ่มต้นมาเป็นเวลา 10 ปี
เป็นที่ทราบกันดีว่า ยุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่ริเริ่มโดยผู้นำจีนในปี 2013 นั้น เป็นที่รู้จักในชื่อเริ่มแรกว่าโครงการเส้นทางสายไหมยุคใหม่ทางบกและทางทะเล มีความมุ่งหมายขยายความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับนานาประเทศ ผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตัดถนน เส้นทางรถไฟ การสร้างโรงไฟฟ้า ฯลฯ โดยจีนพร้อมให้ความสนับสนุนทั้งด้านเทคนิคและเงินลงทุน
ข้อมูลล่าสุด (ณ เดือนมิ.ย.2566) ชี้ว่า ปัจจุบันมีข้อตกลงความร่วมมือภายใต้ความริเริ่ม BRI จำนวนทั้งสิ้นมากกว่า 200 โครงการระหว่างจีนกับ 150 กว่าประเทศทั่วโลกใน 5 ทวีป นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างจีนกับองค์กรระหว่างประเทศมากกว่า 30 องค์กร
นอกจากสุนทรพจน์เปิดงานที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะถ่ายทอดเนื้อหาสำคัญและความมุ่งหมายหลักสำหรับโครงการความร่วมมือในมิติยกระดับขึ้นกว่าเดิมแล้ว การประชุม BRF ครั้งที่ 3 นี้ ยังจะมีการประชุมเวทีย่อยสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีก 3 เวทีเพื่อหารือกันในเชิงลึกว่าด้วยเรื่องการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (connectivity) การพัฒนาที่ยั่งยืนและอนุรักษ์ (green development) และเศรษฐกิจดิจิทัล (digital economy) นอกจากนี้ ยังมีเวทีหารือภายใต้ 6 หัวข้อ และ CEO Conference สำหรับภาคเอกชนด้วย
ทั้งนี้ ไม่นับรวมการประชุมระดับทวิภาคีที่จะเกิดขึ้นอีกมากมายระหว่างผู้แทนประเทศต่างๆที่เข้าร่วมมากกว่า 100 ประเทศ
คาดว่าในการประชุมครั้งนี้จะมีการประกาศโครงการความร่วมมือและโครงการลงทุนระหว่างประเทศอีกหลายโครงการ
การประชุมสุดยอดอาเซียนและคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC Summit) ครั้งที่1
กำหนดมีขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยเวทีนี้เป็นการประชุมระดับผู้นำของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียน และประเทศสมาชิกคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ซึ่งประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)
ASEAN-GCC Summit ครั้งที่ 1 ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน และ 6 ชาติสมาชิก GCC ซึ่งจะได้หารือถึงแนวทางในการส่งเสริมความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ทั้งทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองภูมิภาค เนื้อหาการหารือยังจะครอบคลุมถึงประเด็นความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และแนวทางการคลี่คลายความขัดแย่งในตะวันออกกลาง
คาดว่าจะมีการร่วมลงนามในกรอบความร่วมมือ ASEAN- GCC สำหรับปี 2024 ถึงปี 2028 และมีการออกแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ
ทั้งนี้ ในส่วนของนายกรัฐมนตรี จะเน้นผลักดันความร่วมมืออาเซียน-GCC และไทย-GCC ที่สำคัญ ได้แก่ เรื่องการค้าการลงทุน การพัฒนาที่ยั่งยืนและวาระสีเขียว รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองภูมิภาคด้วย
นอกจากนี้ นายกฯยังมีกำหนดเข้าเฝ้า เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย รวมถึงหารือกับภาคเอกชน ซึ่งน่าจะก่อให้เกิดผลทางบวกต่อการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ
กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ซึ่งมี 6 ชาติสมาชิกตั้งอยู่ติดกันในอ่าวอาหรับ ได้แก่ บาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และซาอุดีอาระเบีย มีประชากรรวมกันมากกว่า 65 ล้านคน และพื้นที่รวมประมาณ 2.6 ล้านกิโลเมตร GDP ทั้งหมดมีมูลค่าประมาณ 3,600 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เศรษฐกิจ GCC เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เนื่องจากมีการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติประมาณ 30% ของโลก
ทั้งนี้ สถาบันวิเคราะห์เศรษฐกิจ World Bank Gulf Economic Update (GEU) รายงานเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ GCC ว่าปีนี้ มีโอกาสสูงมากที่เศรษฐกิจโดยรวมของกลุ่มประเทศ GCC ในปี 2566 จะเติบโตได้น้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากรายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติลดลง และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าเศรษฐกิจ GCC ปี 2566 และ 2567 จะเติบโตที่ 2.5% และ 3.2% ตามลำดับ ทั้งนี้ ในระยะหลายปีที่ผ่านมา ประเทศ GCC ได้ปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ ปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจ ความสามารถในการแข่งขัน และปรับปรุงในการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงในประเทศด้วย