สำนักข่าวต่างประเทศรายงานวันนี้ (1 พ.ย.) ว่า สาธารณรัฐเยเมน เป็นประเทศแรกในบรรดาชาติอาหรับที่ ประกาศเข้าร่วมสงคราม ต่อสู้กับ อิสราเอล ที่กำลังเปิดศึกกับกลุ่มฮามาสใน ฉนวนกาซา เข้าสู่สัปดาห์ที่4 แล้ว ท่าทีดังกล่าวของเยเมนอาจยกระดับสถานการณ์สงครามในอิสราเอลให้กลายเป็นสงครามระดับภูมิภาคได้ แต่ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จัก สาธารณรัฐเยเมน และ “กลุ่มฮูตี” ที่ปกครองประเทศเยเมนอยู่ในเวลานี้
1.สาธารณรัฐเยเมน ตั้งอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง บริเวณปลายสุดของคาบสมุทรอาระเบีย ติดอ่าวเอเดน ทะเลอาระเบีย ทะเลอาหรับ ช่องแคบ Bab al-Mandab และทะเลแดง ซึ่งเชื่อมคลองสุเอซ ออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีขนาดพื้นที่ 527,970 ตร.กม. ใหญ่เป็นอันดับที่ 51 ของโลก
พรมแดนทิศเหนือ ติดกับซาอุดีอาระเบีย ทิศใต้ ติดทะเลอาระเบีย/ทะเลอาหรับ อ่าวเอเดน โดยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 1,470 กม. ทิศตะวันออก ติดกับโอมาน ทิศตะวันตก ติดทะเลแดง โดยมีชายฝั่งยาวประมาณ 730 กม.
จะเห็นได้ว่า สาธารณรัฐเยเมนไม่มีพรมแดนติดอิสราเอล แต่ที่ผ่านมา เยเมนสามารถโจมตีพุ่งเป้าหมายไปที่พื้นที่อิสราเอลได้โดยใช้ขีปนาวุธ ขีปนาวุธติดปีก และโดรน ในการโจมตีทางอากาศ และในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา รัฐบาลเยเมนในเมืองหลวงซานา ออกแถลงการณ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ของ “กลุ่มฮูตี” ที่มีอำนาจปกครองประเทศอยู่ในเวลานี้ ระบุว่า เยเมนพร้อมประกาศสงครามกับอิสราเอลแล้ว และจะมีการโจมตีอิสราเอลมากขึ้นกว่านี้ หากกองทัพอิสราเอลยังคงระดมกวาดล้างกลุ่มฮามาสในพื้นที่ฉนวนกาซา
“เราจะยิงถล่มอิสราเอลเพิ่มมากขึ้นอีก เพื่อหยุดความก้าวร้าวของอิสราเอลที่เดินหน้าถล่มในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง” ยาห์ยา ซารี โฆษกของกองกำลังฮูตีกล่าวเมื่อวันที่ 31 ต.ค. และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เป็นครั้งที่สามแล้ว ที่เยเมนโจมตีอิสราเอลด้วยจรวดมิสไซล์
2.กลุ่มฮูตีที่ปกครองเยเมนในเวลานี้คือใคร กลุ่มฮูตี (Houthi)ในเยเมน เป็นกลุ่มมุสลิมนิกายชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน
จุดกําเนิดของกลุ่มฮูตี ย้อนกลับไปเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว เมื่อชาวมุสลิมนิกายชีอะห์กลุ่มหนึ่งได้ก่อตั้งกลุ่มองค์กรที่ชื่อว่า “ชะบาบอัลมุอ์มิน” ขึ้นมา เพื่อรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนในนิกายชีอะห์เกิดจิตสํานึกรักและหวงแหนในประวัติศาสตร์ทางการเมืองการปกครองและวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี
การก่อตั้งกลุ่มดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ปกครองเยเมนในขณะนั้นเป็นนิกายซุนนีย์ มีความพยายามที่จะลบประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของเยเมนที่เคยถูกปกครองโดยผู้นําที่เป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ให้หมดไปจากความทรงจําของเด็กและเยาวชนชาวเยเมนรุ่นใหม่
ต่อมาในปี 2547 กลุ่มฮูตีได้พัฒนามาสู่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่นิยมความรุนแรง แต่เนื่องด้วยการดําเนินกิจกรรมต่างๆ ทางการเมืองของกลุ่มฮูตีถูกรัฐบาลใช้กําลังและอาวุธเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง จึงส่งผลให้กลุ่มฮูตีต้องจัดตั้งกลุ่มติดอาวุธขึ้นมาต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งแน่นอนว่าว่า อาจจะมีชาติพันธมิตรที่เป็นนิกายชีอะห์คอยให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านอาวุธ
3.การขึ้นสู่อำนาจของกลุ่มฮูตี เกิดขึ้นหลังการลุกฮือของมวลชนเมื่อปี 2554 เพื่อขับไล่ประธานาธิบดีเยเมนในขณะนั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของการลุกฮือของมวลชนในโลกอาหรับที่เรียกว่า Arab Spring กลุ่มชีอะห์เผ่าฮูตีที่มีฐานที่มั่นในภาคเหนือของเยเมน และมี นายอับดุล มาลิก อัลฮูตี เป็นผู้นำกลุ่ม ไม่พอใจการดำเนินกระบวนการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของรัฐบาลเยเมนภายใต้การบริหารของประธานาธิดี อับดุลร็อบบุห์ มันศูร ฮาดี ในเวลานั้น จึงส่งกองกำลังติดอาวุธบุกยึดกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมน เมื่อเดือนก.ย.2557 และจากนั้นก็ขยายการบุกยึดเมืองสำคัญในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก จนถึงภาคใต้ของเยเมน ก่อนประกาศยึดอำนาจประธานาธิบดีฮาดีเมื่อเดือน ก.พ.2558 ส่งผลให้ประธานาธิบดีฮาดี และคณะรัฐมนตรีเยเมน ต้องลี้ภัยไปจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่เมืองเอเดนในภาคใต้ ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงชั่วคราวโดยความสนับสนุนของซาอุดีอาระเบีย และใช้เป็นฐานที่มั่นของรัฐบาลเยเมนในการสู้รบกับกลุ่มกบฏฮูตี
อย่างไรก็ตาม กลุ่มฮูตีที่กลายเป็นกลุ่มกบฏฮูตี ประกาศว่า พวกเขาเข้ายึดครองประเทศและยุบสภาแล้ว ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในการยึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยในการประกาศผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในปี 2558 จากทำเนียบรีพับลิกัน พาเลซ ในกรุงซานา กลุ่มกบฏฮูตีระบุด้วยว่า ได้จัดตั้งสภาประธานาธิบดี ซึ่งมีสมาชิก 151 คนขึ้น เพื่อเป็นรัฐบาลบริหารประเทศชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี ส่วนคณะกรรมาธิการปฏิวัติ จะเข้ารับหน้าที่ตั้งรัฐสภาชุดใหม่ที่มีสมาชิก 551 คน แถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่งอ่านโดยตัวแทนของฮูตี ที่ไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่านี้เป็นยุคใหม่ที่จะนำพาเยเมนสู่ฝั่งความปลอดภัย
กระนั้นก็ตาม ประชาคมระหว่างประเทศส่วนใหญ่ ยังให้การรับรองรัฐบาลประธานาธิบดีฮาดีว่าเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมของเยเมน ขณะที่รัฐบาลชั่วคราวที่กลุ่มกบฏเผ่าฮูตีประกาศจัดตั้งขึ้นบริหารประเทศเมื่อ ต.ค.2559 นั้น ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา นายอับดุล มาเลค อัลฮูตี ผู้นำกลุ่มฮูตี ประกาศว่า การที่สหรัฐอเมริกาเข้าแทรกแซงเหตุการณ์ในฉนวนกาซา จะยิ่งผลักดันให้ทางกลุ่ม (ฮูตี) ตอบโต้ด้วยการยิงโดรน และขีปนาวุธเข้าใส่อิสราเอล รวมถึงปฏิบัติการทางทหารอื่น ๆ ด้วย
เกี่ยวกับท่าทีของสาธารรัฐเยเมนนี้ นายดาเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอลได้แถลงตอบกลับในทันทีว่า อิสราเอลจะยังคงเน้นปฏิบัติการทางทหารในกาซาต่อไป แม้ว่าจะมีการโจมตีมาจากฝั่งฮูตีก็ตาม เขายังกล่าวย้ำด้วยว่า ในภูมิภาคนี้ มีกลุ่มต่าง ๆ มากมายที่ปฏิบัติการภายใต้การบงการของอิหร่าน ซึ่งรวมถึงกลุ่มฮูตีนี้ด้วย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ พยายามเบี่ยงเบนเป้าหมายของอิสราเอลในฉนวนกาซา แต่กระนั้น อิสราเอลก็จะเดินหน้าโฟกัสปฏิบัติการในกาซาอย่างแน่วแน่ต่อไป
ถ้อยแถลงของกลุ่มชีอะห์ฮูตีในเยเมน ที่ประกาศปกป้องกลุ่มฮามาสและชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาที่กำลังถูกถล่มโจมตีอย่างหนักโดยกองทัพอิสราเอล ทำให้นานาประเทศอาหรับมีความหวั่นวิตกมากขึ้นเกี่ยวผลกระทบของความขัดแย้งครั้งนี้ โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียที่มีพรมแดนติดกับเยเมนและมีเส้นทางส่งออกน้ำมันที่ต้องผ่านทะเลอาหรับและทะเลแดงที่เชื่อมคลองสุเอซ
นอกจากนี้ ในฐานะที่ซาอุดีอาระเบียเคยให้การสนับสนุนรัฐบาลพลัดถิ่นของเยเมน(โดยปธน.ฮาดี) ซึ่งเป็นฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มฮูตีที่มีอิหร่านหนุนหลัง ก็ยิ่งทำให้ความขัดแย้งครั้งนี้ส่อแนวโน้มอาจขยายตัวสู่แวดวงประเทศพันธมิตรของคู่สงคราม
กลุ่มฮูตีแห่งเยเมนนั้นไม่ได้เพียงแค่ขู่ แต่พวกเขาโจมตีอิสเราเอลมาสองครั้งแล้วในเร็ว ๆนี้ โดยเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา พวกเขาส่งโดรนหวังโจมตีอิสราเอลแต่ไปเกิดระเบิดในอียิปต์ และก่อนหน้านั้นวันที่ 19 ต.ค. กลุ่มฮูตียิงจรวดมิสไซล์ 3 ลูกมุ่งเป้าโจมตีไปยังอิสราเอลแต่ถูกกองทัพเรือสหรัฐที่ไปประจำการให้ความสนับสนุนอิสราเอลบริเวณนั้น สกัดเอาไว้ได้เสียก่อน
ทั้งนี้ สโลแกนของกลุ่มฮูตีแห่งเยเมน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Axis of Resistance หรือ “แกนแห่งการต่อต้าน” ซึ่งหมายถึงการเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรต่อต้านตะวันตกและต่อต้านอิสราเอล กล่าวไว้ว่า “ความตายจงมีแด่อเมริกาและอิสราเอล คำสาปแช่งจงมีแด่ชาวยิว ชัยชนะเป็นของอิสลาม”
ซาอุดีอาระเบียกล่าวว่า อิหร่านนั้นอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนด้านอาวุธ การฝึกกำลังพล และการให้เงินสนับสนุนกลุ่มฮูตีในเยเมน แต่ผู้นำกลุ่มฮูตีก็ออกมาปฏิเสธในเรื่องนี้ โดยบอกว่าพวกเขาไม่ใช่ “ตัวแทน” ในการทำสงครามของอิหร่าน (Iranian proxy) และขีดความสามารถของกลุ่มฮูตีนั้นก็สามารถพัฒนาอาวุธของตัวเองได้
จนถึงขณะนี้ พันธมิตรหลักของอิสราเอลคือสหรัฐอเมริกายังคงมีเรือบรรทุกเครื่องบินและเรือรบเฝ้าประจำการในทะเลเพื่อให้การสนับสนุนอิสราเอล ขณะที่อิหร่านกล่าวว่า อิหร่านไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งครั้งนี้และไม่ต้องการให้สงครามอิสราเอล-ฮามาสขยายวงกว้าง อย่างไรก็ตาม “พันธมิตรของอิหร่าน” อาจดำเนินการบางอย่าง
ดร. ฮุซัยน์ อะมีร อับดุลลอฮิยอน รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน กล่าวเมื่อวันอังคาร (31 ต.ค.) ว่า กลุ่มพันธมิตร Axis of Resistance จะไม่นิ่งเฉยต่อการก่ออาชญากรรมของพวกยิวและการให้ความสนับสนุนของอเมริกา “พวกเขาจะไม่รอให้ใครมาบอก ถ้าสถานการณ์มันเลวร้ายเกินควบคุม จะไม่มีฝ่ายใดเลยที่อยู่รอดปลอดภัยจากผลของการกระทำนี้” เขากล่าวขณะเข้าร่วมประชุมที่ประเทศกาตาร์
โฆษกของกลุ่มฮูตีในเยเมนกล่าวว่า อิสราเอลคือตัวการแห่งความไร้สเถียรภาพในตะวันออกกลาง และวงจรแห่งความขัดแย้งทั้งหลายก็เกิดขึ้นเป็นวงกว้างจากพฤติกรรมก่ออาชญากรรมของอิสราเอลที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง และฮูตีก็ขอให้คำมั่นว่า จะโจมตีต่อไปจนกว่าอิสราเอลยุติความก้าวร้าวนี้
นักวิเคราะห์จากสถาบัน Carnegie Middle East Center ให้ความเห็นว่า การโจมตีของกลุ่มฮูตีในเยเมนที่ผ่านมาเหมือนเป็นแค่การส่งสัญญาณเตือนอิสราเอล แต่ความเสี่ยงต่อจากนี้ไปคือ ถ้าหากเยเมนเข้าร่วมในสงครามอย่างเต็มตัว และระดมโจมตีทางอากาศจากทุกทิศทาง ระบบป้องกันทางอากาศของอิสราเอลที่ได้รับความสนับสนุนจากสหรัฐก็คงไม่อาจต้านทานการโจมตีได้
ข้อมูลอ้างอิง: