ถอดรหัสแถลงการณ์ "เฟด" ส่งสัญญาณยุตินโยบายการเงินเข้มงวดรอบ 40 ปี

02 พ.ย. 2566 | 03:45 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2566 | 03:53 น.

ถอดรหัสแถลงการณ์ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แบบคำต่อคำ ส่งสัญญาณ "ยุตินโยบายการเงินเข้มงวดที่สุดในรอบ 40 ปี" หลังมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งติดต่อกัน

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกแถลงการณ์ภายหลัง การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 1 พ.ย.ตามเวลาสหรัฐ โดยระบุว่า ข้อมูลที่เฟดได้รับเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่แข็งแกร่งในไตรมาส 3 ขณะที่การจ้างงานชะลอตัวลงนับตั้งแต่ต้นปี แต่ยังคงมีความแข็งแกร่ง และอัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงปรับตัวขึ้น

ระบบธนาคารสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และยืดหยุ่น ส่วนภาวะตึงตัวด้านการเงินและสินเชื่อที่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนเผชิญอยู่นั้นอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และเงินเฟ้อ ซึ่งขอบเขตของผลกระทบเหล่านี้ยังคงมีความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันคณะกรรมการ FOMC ยังคงให้ความสนใจเรื่อง ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ เป็นอย่างมาก

 

คณะกรรมการ FOMC พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการฯ ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะยังคงประเมินข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อกำหนดนโยบายการเงินในวันข้างหน้า

ในการตัดสินใจว่า เฟดจำเป็นจะต้องดำเนินนโยบายเพิ่มเติมเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่ระดับ 2% หรือไม่นั้น คณะกรรมการฯ จะพิจารณาถึงการคุมเข้มนโยบายการเงินที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายครั้ง และพิจารณาถึงระยะเวลาที่นโยบายการเงินจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและการเงิน

นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) ซึ่งมีการประกาศในช่วงก่อนหน้านี้ โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

ในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการฯ จะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า เเละคณะกรรมการฯ จะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการฯ โดยจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง อย่างข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวล ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, ไมเคิล เอส บาร์, มิเชล ดับเบิลยู โบว์แมน, ลิซา ดี คุก, ออสแทน ดี กูลส์บี, แพทริก ฮาร์เกอร์, ฟิลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, นีล แคชคารี, เอเดรียนา ดี คุกเลอร์, โลรี เค โลแกน และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินในวันพุธ (1 พ.ย.) โดยส่งสัญญาณว่า ขณะนี้ เฟดอาจใกล้ยุติวงจรการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดที่สุดในรอบ 40 ปี หลังจากที่คณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งติดต่อกัน

"คำถามที่ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่? ผมมองว่าการชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า หากเฟดจำเป็นจะต้องดำเนินการในวันข้างหน้า เฟดจะทำการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเป็นครั้ง ๆ ไป และจะยังคงพิจารณาจากข้อมูลหลายด้าน ซึ่งรวมถึงตัวเลขการจ้างงานสองรายการและตัวเลขเงินเฟ้อสองรายการ นอกจากนี้เฟดจะพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะการเงิน และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ก่อนการประชุมเดือน ธ.ค.โดยผมและกรรมการเฟดคนอื่น ๆ จะจับตาสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เพื่อประเมินว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจ" นายพาวเวลกล่าว

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ นายพาวเวลหลีกเลี่ยงการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ "Dot Plot" โดยกล่าวเพียงว่า Dot Plot เป็นเพียงการคาดการณ์ส่วนตัวของกรรมการเฟดแต่ละคนในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น

นายพาวเวลยังกล่าวด้วยว่า การฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงนั้น จำเป็นต้องทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่การดำเนินการดังกล่าวก็จะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน

ส่วนแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้น นายพาวเวลย้ำว่า เฟดยังไม่ได้เริ่มพิจารณาเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และจะยังไม่พิจารณาเรื่องนี้จนกว่าเฟดจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้