นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ได้หารือกับนักธุรกิจของสหรัฐอเมริกา U.S. APEC Business Coalition ซึ่งประกอบด้วย National Center for APEC (NCAPEC) สภาหอการค้าสหรัฐฯ (U.S. Chamber of Commerce: USCC) และสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน (U.S.-ASEAN Business Council : USABC) เกี่ยวกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ
สำหรับสาระสำคัญของการหารือครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ระบุถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์”(Landbridge) เชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งจะเสริมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมาก
โดยนายกฯ กล่าวเชิญชวนและยินดีต้อนรับการลงทุนของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ย้ำความเปิดกว้างของรัฐบาลไทยด้านการค้าและการลงทุน ซึ่งประเทศไทยมีพื้นฐานด้านเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยตั้งเป้าที่จะทำให้ประเทศไทยพร้อมสำหรับอนาคตให้เจริญเติบโตท่ามกลาง “วิกฤตหลายด้าน” ของเศรษฐกิจโลกที่มีการแข่งขันที่สูงขึ้น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และปัญหาสภาพภูมิอากาศ
โดยรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาในเส้นทางการพัฒนาด้วยมาตรการ Quick-win รวมถึงการลดค่าครองชีพ การสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศ และการขยายการลงทุนและธุรกิจ
ทั้งนี้ไทยมุ่งเป้าสู่การเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาคด้านการพาณิชย์และโลจิสติกส์ โดยเน้นมาตรการระยะกลางและระยะยาว ทั้งการเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ เร่งการเจรจา FTA เพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจ และส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศ ในฐานะศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในภูมิภาค
ทั้งนี้ ยังได้กล่าวถึงการเปิดใช้งานอาคารผู้โดยสาร Satellite 1 ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานอันดามันที่จังหวัดภูเก็ตและท่าอากาศยานล้านนาที่จังหวัดเชียงใหม่ และแผนการปรับปรุงท่าอากาศยานอื่นๆ ของไทย เพื่อรองรับความเชื่อมโยงภายในประเทศ อันจะนำไปสู่การก้าวเป็น hub คมนาคมขนส่งของภูมิภาค อีกทั้งยังจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเข้าถึง soft power ท้องถิ่นของจังหวัดต่าง ๆ ด้วย
นายกฯ ยังได้ย้ำว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเป็นรากฐานความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ จึงหวังว่า U.S. APEC Business Coalition จะสนับสนุนความเป็นหุ้นส่วนระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมถึง APEC ให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในด้านที่ไทยและสหรัฐฯ ให้ความสำคัญร่วมกัน เช่น ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การเปลี่ยนผ่านพลังงาน การเชื่อมโยงทางกายภาพและดิจิทัล และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
ทั้งนี้ไทยพร้อมเป็นพันธมิตรด้านห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อถือได้ และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่สำคัญซึ่งเป็นประโยชน์ร่วมกัน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล พลังงานสะอาด และอื่น ๆ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำว่า “ตอนนี้เป็นเวลาที่จะเพิ่มการลงทุนในประเทศไทย”
โดยไทยกำลังดำเนินการด้านกฎระเบียบที่ครอบคลุม การแปลงบริการภาครัฐเป็นดิจิทัล และกระบวนการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติเพื่อให้มีคุณสมบัติเหมาะสมและได้รับมาตรการส่งเสริม พร้อมกันนี้ พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่เข้าร่วมการหารือ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันด้วย